การทำวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษา

24 Jan 2022


            ระดับบัณฑิตศึกษา ถือเป็นระดับชั้นที่ผู้เรียนมีประสบการณ์การเรียนรู้วิชาชีพผ่านมาแล้วในระดับปริญญาตรี และกำลังก้าวมาสู่ความเชี่ยวชาญในสายอาชีพของตนเอง สามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง ตามสิ่งที่ตนเองสนใจและต้องการศึกษา  เพื่อความเฉพาะทางในศาสตร์ที่ตนเองเรียน ซึ่งในสาขาดนตรีศึกษา ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระดับบัณฑิตศึกษา ได้แก่ การเรียนในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก แน่นอนว่า ระดับบัณฑิตศึกษา เป็นช่วงเวลาที่ผู้เรียนต้องพัฒนาความเชี่ยวชาญของตนเอง และการทำงานวิจัยก็เป็นหนทางที่จะนำมาซึ่งความรู้ใหม่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทั้งต่อตนเองและประเทศชาติในอนาคต

            การทำวิจัยควรเริ่มต้นจากสิ่งที่ผู้วิจัยสนใจ ลองตั้งคำถามกับตัวเองเล่น ๆ ก่อนว่า ผู้วิจัยต้องการจะทราบเรื่องอะไร หรือมีปัญหาอะไรที่ยังไม่ทราบวิธีการแก้ไข จากนั้น ลองค้นคว้าหาข้อมูลในเรื่องนั้น ว่ามีใครเคยศึกษาไว้ หรือมีความองค์ความรู้ที่ตนเองสนใจแล้วหรือไม่ ถ้ายังไม่มี เราก็เข้าสู่กระบวนการวิจัยได้เลย

            ก่อนที่ผู้วิจัยจะเริ่มต้นรวบรวมข้อมูล “การทบทวนวรรณกรรม” จะช่วยทำให้ผู้วิจัยทราบว่าความรู้นั้นเคยมีมาก่อนหรือไม่หรือควรวิจัยเพิ่มเติมมั้ย การทบทวนวรรณกรรม ถือเป็นการรวบรวม สรุป ข้อมูลต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ในหัวข้อที่เฉพาะเจาะจงกับเรื่องที่ศึกษา เพื่อเป็นการกำหนดกรอบแนวคิดและขอบเขตของงานวิจัย การทบทวนวรรณกรรมที่ดีจะแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างความอยากรู้ของผู้วิจัยกับองค์ความรู้ของสาขาวิชานั้น

            หลังจากทบทวนวรรณกรรม ผู้วิจัยจะเริ่มเห็นว่าสิ่งที่จะทำและสามารถสร้างออกมาเป็นองค์ความรู้ได้นั้น มีขอบเขตแค่ไหน ทำให้สามารถกำหนดกรอบแนวคิดงานวิจัย สามารถตั้งคำถามและวัตถุประสงค์ของงานที่จะศึกษา นำไปสู่การค้นคว้า จากนั้น นำแนวคิดทฤษฎีที่ศึกษามาออกแบบงานวิจัยและสร้างเครื่องมือวิจัย เก็บข้อมูล วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล จนนำไปถึงการสรุปและอภิปรายผลการวิจัย

Asst. Prof. Dr. Ni-on Tayrattanachai

Music Education Department