เทศกาลกีตาร์คลาสสิกระดับโลก ตอนที่ ๔

23 Feb 2023

“Tokyo International Guitar Competition”งานแข่งขันกีตาร์คลาสสิกนานาชาติที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

โปสเตอร์งานแข่งที่ใช้ภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด

กีตาร์คลาสสิกในดินแดนตะวันออกอย่างทวีปเอเชียในอดีตกาลนั้น อาจยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เนื่องจากต้นกำเนิดของเครื่องดนตรีชิ้นนี้มาจากดินแดนฝั่งตะวันตกที่เป็นที่ตั้งของทวีปยุโรปในปัจจุบัน แต่หารู้ไม่ว่างานแข่งขันกีตาร์คลาสสิกงานใหญ่ระดับโลกนั้นได้จัดขึ้นครั้งแรก ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จวบจนถึงปัจจุบัน งานนี้ได้รับการยอมรับในฐานะหนึ่งในงานแข่งขันกีตาร์คลาสสิกนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก และในทวีปเอเชีย

ถึงแม้ว่ากีตาร์คลาสสิกอาจเคยไกลห่างจากดินแดนตะวันออกแห่งนี้ แต่ในอดีตกาลประเทศญี่ปุ่นก็มีเครื่องดนตรีที่ชื่อว่าซามิเซ็ง (Shamisen) ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับกีตาร์ แต่จะมีเพียงสามสายเท่านั้น รวมถึงเทคนิคการเล่นที่จะใช้แผ่นไม้ในการดีดให้เกิดเสียงแทนการใช้นิ้วดีด (Plectrum)

เครื่องดนตรีซามิเซ็ง (Shamisen)

Tokyo International Guitar Competition หรือการแข่งขันกีตาร์คลาสสิกนานาชาติแห่งกรุงโตเกียว จัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๔๙ จวบจนถึงปัจจุบัน ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ ๖๕ (มีการยกเลิกไปในบางปี เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองและโรคระบาด) ถือว่าเป็นงานแข่งขันกีตาร์คลาสสิกที่เก่าแก่ที่สุดในโลกตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เคยค้นพบมา เก่าแก่กว่างาน International Guitar Competition “Francisco Tarrega” เมือง Benicàssim ประเทศสเปน ที่มาเป็นอันดับที่สอง (๕๕ ปี) และงาน International Guitar Competition “Michele Pittaluga” เมือง Alessandria ประเทศอิตาลี ที่มาเป็นอันดับที่สาม (๕๔ ปี)

ในปัจจุบัน งานนี้อยู่ในความรับผิดชอบของสหพันธ์กีตาร์ญี่ปุ่นร่วมสมัย Gendai Nihon Guitar Renmei (Modern Japan Federation of Guitarists) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๖๖ เป็นต้นมา ผู้คนในวงการต่างเรียกงานนี้ในชื่อเล่นว่า “งานโตเกียว”

โลโก้อย่างเป็นทางการของ Gendai Nihon Guitar Renmei

การประกวดมีทั้งหมด ๓ รอบการแข่งขัน ดังต่อไปนี้

๑. รอบคัดเลือก

ในรอบนี้ผู้เข้าประกวดจะต้องส่งวิดีโอการบรรเลงที่เป็นบทเพลงบังคับทั้งหมด ประกอบไปด้วยบทเพลง ๒ เพลงที่ผู้เข้าแข่งขันไม่สามารถเลือกบทเพลงอิสระได้ ซึ่งจะเปลี่ยนไปในแต่ละปี สำหรับในปีล่าสุด ค.ศ. ๒๐๒๒ คือบทเพลง Minuet Op. 11, No. 1 ประพันธ์โดย Fernando Sor (1778-1839) และบทเพลง Gran Vals ประพันธ์โดย Francisco Tárrega (1852-1909) ทั้งสองเป็นคีตกวีชาวสเปนทั้งคู่ ต่างกันเพียงแค่ยุคสมัยของดนตรี ซึ่ง Sor มาจากยุคคลาสสิก Tárrega มาจากยุคโรแมนติก การใช้เพลงบังคับต่างยุคกันจะเป็นการทดสอบการตีความการบรรเลงของผู้เข้าแข่งขันได้อย่างชัดเจนในสายตาคณะกรรมการ

จุดเด่นของเพลงบังคับในรอบนี้คือ ทางงานมักใช้เพลงที่มีระดับความง่ายไปจนถึงง่ายที่สุด เป็นความท้าทายของผู้เข้าแข่งขันว่าจะบรรเลงบทเพลงธรรมดาที่ง่ายแสนง่ายนี้ให้ออกมาน่าสนใจได้อย่างไร

๒. รอบคัดเลือก รอบที่สอง

งานนี้เลือกใช้คำว่า “2nd Preliminary Round” แทนคำว่า Semifinal round อันเนื่องมาจากโปรแกรมของบทเพลงที่สั้นเสมือนกับรอบคัดเลือก (โดยปกติแล้ว รอบรองชนะเลิศ จะต้องบรรเลงบทเพลงความยาวไม่ต่ำกว่า ๑๕ นาที) โดยในรอบนี้จะประกอบไปด้วยบทเพลงบังคับหนึ่งเพลง ในระดับความยากปานกลางไปจนถึงสูง สำหรับในปีล่าสุด (ค.ศ. ๒๐๒๒) คือท่อนแรกจากบทเพลง Sonata Clásica ประพันธ์โดย Manuel Maria Ponce (1882-1948) นักประพันธ์ชาวเม็กซิกัน และบทเพลงเลือกอิสระ ความยาวไม่เกิน ๘ นาที

ตัวอย่างโน้ตบทเพลงบังคับในรอบคัดเลือก
รอบที่หนึ่งและสอง

๓. รอบชิงชนะเลิศ

รอบชิงชนะเลิศ เรียกได้ว่าเป็บรอบการประกวดที่ยากและยาวที่สุด โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องบรรเลงบทเพลงความยาว ๒๐-๓๐ นาที ประกอบไปด้วยบทเพลงบังคับที่ประพันธ์โดยนักประพันธ์ชาวญี่ปุ่น สำหรับในปีล่าสุด (ค.ศ. ๒๐๒๒) คือบทเพลง Folios for guitar ประพันธ์โดย Tōru Takemitsu (1930-1996)

ตัวอย่างบทเพลงบังคับในรอบชิงชนะเลิศ

สำหรับบทเพลงเลือกอิสระที่ไม่อิสระในงานโตเกียวนั้น จะเป็นไปในลักษณะแบบ “บังคับยุคทางประวัติศาสตร์ดนตรีคลาสสิก” ซึ่งจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกันในการประกวดทุก ๆ ปี บทเพลงบังคับยุคในงานนี้จะประกอบไปด้วยบทเพลง ๓ ประเภท ดังต่อไปนี้

– บทเพลงตั้งแต่ยุค Renaissance จนถึงยุค Baroque

– บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๗๕๐ ไปจนถึงปี ค.ศ. ๑๙๒๐

– บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นหลังปี ค.ศ. ๑๙๒๐ โดยรวมแล้ว ลักษณะการจัดโปรแกรมเพลงในลักษณะนี้ มีความคล้ายคลึงกับงานแข่งขันกีตาร์คลาสสิกนานาชาติที่ประเทศไต้หวันเป็นอย่างมาก (Taiwan International Guitar Competition) เนื่องจากงานนี้ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมกีตาร์คลาสสิกญี่ปุ่นที่นำโดย Shin-Ichi Fukuda นักกีตาร์คลาสสิก ผู้เป็นปูชนียบุคคลของวงการกีตาร์คลาสสิกในประเทศญี่ปุ่น โดยงานนี้ได้รับสมญานามว่า “Major Classical Guitar Competition in Asia”

Shin-Ichi Fukuda นักกีตาร์คลาสสิกผู้เป็นปูชนียบุคคลของวงการกีตาร์คลาสสิกในประเทศญี่ปุ่น

นอกจากในเรื่องของโปรแกรมเพลงที่มีจุดเด่นไม่เหมือนใครแล้ว งานโตเกียวยังขึ้นชื่อในเรื่องของความเข้มงวด ตารางการเปิดปิดรับสมัคร และจำนวนเพลงบังคับที่มากกว่างานอื่น ๆ ในระดับสากล ซึ่งจะประกอบไปด้วยจุดเด่นสามข้อหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

๑. เข้มงวดเรื่องเวลามาก ๆ ห้ามขาดห้ามเกินแม้แต่วินาทีเดียว          

โดยส่วนใหญ่งานแข่งขันกีตาร์คลาสสิกในฝั่งยุโรปและอเมริกามักมีการผ่อนปรนในเรื่องของความยาวบทเพลง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าต้องบรรเลงบทเพลงความยาว ๓๐ นาที การบรรเลงเกินเวลาในหลักวินาทีอาจได้รับข้อยกเว้น หรือใช้วิธีลงโทษโดยการตัดคะแนน หรือสั่งให้หยุดเล่น แต่สำหรับงานที่โตเกียวนั้น หากเล่นไม่ครบเวลาหรือเกินเวลาแม้แต่วินาทีเดียวจะถูกปรับแพ้ทันที (กรรมการยกเลิกการลงคะแนน) การเข้มงวดเรื่องเวลามักเกิดขึ้นในงานแข่งขันกีตาร์คลาสสิกในทวีปเอเชีย ยกตัวอย่างเช่น Changsha International Guitar Competition เมืองฉางซา ประเทศจีน, Taiwan International Guitar Competition ประเทศไต้หวัน, Altamira Hong Kong International Guitar Competition ที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง หรือแม้กระทั่ง Asia International Guitar Competition ที่ประเทศไทยเองก็เคยมีการปรับแพ้ จากการบรรเลงบทเพลงไม่ครบตามกำหนดเวลามาแล้ว

Taiwan International Guitar Festival & Competition ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานโตเกียว

๒. ปิดรับสมัครล่วงหน้าหลายเดือน

งานแข่งขันกีตาร์คลาสสิกโดยส่วนใหญ่นั้นมักปิดรับสมัครประมาณหนึ่งเดือนหรือเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนการแข่งขัน แต่สำหรับงานโตเกียวนั้น ได้กำหนดการปิดรับสมัครถึงสามเดือนก่อนการแข่งขัน ยกตัวอย่างเช่น งานประกวดจัดขึ้นในเดือนธันวาคม แต่ผู้เข้าประกวดจะต้องส่งใบสมัครและวิดีโอการบรรเลงรอบคัดเลือกภายในสิ้นเดือนสิงหาคม อย่างไม่มีข้อยกเว้น

๓. จำนวนเพลงบังคับมากมายก่ายกอง

๒ บทเพลงบังคับในรอบแรก ๑ บทเพลงบังคับในรอบที่สอง ๑ บทเพลงบังคับในรอบชิงชนะเลิศ และอีกการบังคับยุคในรอบชิงชนะเลิศ งานกีตาร์คลาสสิกงานใหญ่ระดับโลกมักมีการใช้บทเพลงบังคับเพียง ๑-๒ เพลงเท่านั้น แต่สำหรับงานโตเกียวมีการใช้เพลงบังคับถึง ๔ เพลง บังคับยุคอีก ๓ เพลง รวมเป็นทั้งหมด ๗ เพลงบังคับ เรียกได้ว่าหากเตรียมตัวที่จะมาแข่งในงานโตเกียวแล้ว จะต้องทุ่มเทเวลาในการซ้อมที่มีอยู่ทั้งหมดให้เพลงบังคับเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงบทเพลงบังคับเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลงทุก ๆ ปี หากต้องการจะประกวดซ้ำ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องฝึกบทเพลงใหม่ทั้งหมดยกโปรแกรม

สำหรับรางวัลในงานประกวดโตเกียวนั้นสมราคากับความยากและความโหด ผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินสด ๑,๐๐๐,๐๐๐ เยน และกีตาร์คลาสสิกโดย Kohno Guitar Manufacturing สร้างโดย Masaki Sakurai ซึ่งเป็นหนึ่งในกีตาร์คลาสสิกทำมือที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก รวมถึงยังได้รับโอกาสแสดงคอนเสิร์ตทัวร์ทั่วประเทศญี่ปุ่น สนับสนุนโดยบริษัท Yamaha ที่สองจะได้รับเงินสด ๓๐๐,๐๐๐ เยน ส่วนที่สามได้รับเงินสด ๑๐๐,๐๐๐ เยน ลดลงตามลำดับ

Masaki Sakurai ช่างทำกีตาร์ผู้สืบทอดเจตนารมณ์จาก Kohno Guitar Manufacturing รุ่นที่สอง

และนี่ก็คืองานแข่งขันกีตาร์คลาสสิกงานใหญ่ระดับโลก ตัวแทนหนึ่งเดียวจากทวีปเอเชียที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ยาวนาน จนได้ชื่อว่าเป็นการประกวดที่เก่าแก่ที่สุดในโลกตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สามารถค้นพบได้ ในตอนต่อไปจะเป็นงานแบบไหน แน่นอนว่าไม่ใช่งานที่เก่าแก่ที่สุด ไม่ใช่งานที่เข้มงวดที่สุด ไม่ใช่งานที่เพลงบังคับเยอะที่สุด แต่จะเป็นงานที่สุดในด้านไหน แบบใด อย่างไร ซีกไหนของโลกใบนี้ ที่ได้ยินชื่อแล้วอาจจะต้องขนลุก โปรดติดตามตอนต่อไป…

บรรยากาศการประกวด Tokyo International Guitar Competition
Chinnawat Themkumkwun

ศิลปินกีตาร์คลาสสิกชาวไทยในระดับนานาชาติ ศิษย์เก่าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล