“Tokyo International Guitar Competition”งานแข่งขันกีตาร์คลาสสิกนานาชาติที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

กีตาร์คลาสสิกในดินแดนตะวันออกอย่างทวีปเอเชียในอดีตกาลนั้น อาจยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เนื่องจากต้นกำเนิดของเครื่องดนตรีชิ้นนี้มาจากดินแดนฝั่งตะวันตกที่เป็นที่ตั้งของทวีปยุโรปในปัจจุบัน แต่หารู้ไม่ว่างานแข่งขันกีตาร์คลาสสิกงานใหญ่ระดับโลกนั้นได้จัดขึ้นครั้งแรก ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จวบจนถึงปัจจุบัน งานนี้ได้รับการยอมรับในฐานะหนึ่งในงานแข่งขันกีตาร์คลาสสิกนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก และในทวีปเอเชีย
ถึงแม้ว่ากีตาร์คลาสสิกอาจเคยไกลห่างจากดินแดนตะวันออกแห่งนี้ แต่ในอดีตกาลประเทศญี่ปุ่นก็มีเครื่องดนตรีที่ชื่อว่าซามิเซ็ง (Shamisen) ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับกีตาร์ แต่จะมีเพียงสามสายเท่านั้น รวมถึงเทคนิคการเล่นที่จะใช้แผ่นไม้ในการดีดให้เกิดเสียงแทนการใช้นิ้วดีด (Plectrum)

Tokyo International Guitar Competition หรือการแข่งขันกีตาร์คลาสสิกนานาชาติแห่งกรุงโตเกียว จัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๔๙ จวบจนถึงปัจจุบัน ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ ๖๕ (มีการยกเลิกไปในบางปี เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองและโรคระบาด) ถือว่าเป็นงานแข่งขันกีตาร์คลาสสิกที่เก่าแก่ที่สุดในโลกตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เคยค้นพบมา เก่าแก่กว่างาน International Guitar Competition “Francisco Tarrega” เมือง Benicàssim ประเทศสเปน ที่มาเป็นอันดับที่สอง (๕๕ ปี) และงาน International Guitar Competition “Michele Pittaluga” เมือง Alessandria ประเทศอิตาลี ที่มาเป็นอันดับที่สาม (๕๔ ปี)
ในปัจจุบัน งานนี้อยู่ในความรับผิดชอบของสหพันธ์กีตาร์ญี่ปุ่นร่วมสมัย Gendai Nihon Guitar Renmei (Modern Japan Federation of Guitarists) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๖๖ เป็นต้นมา ผู้คนในวงการต่างเรียกงานนี้ในชื่อเล่นว่า “งานโตเกียว”

การประกวดมีทั้งหมด ๓ รอบการแข่งขัน ดังต่อไปนี้
๑. รอบคัดเลือก
ในรอบนี้ผู้เข้าประกวดจะต้องส่งวิดีโอการบรรเลงที่เป็นบทเพลงบังคับทั้งหมด ประกอบไปด้วยบทเพลง ๒ เพลงที่ผู้เข้าแข่งขันไม่สามารถเลือกบทเพลงอิสระได้ ซึ่งจะเปลี่ยนไปในแต่ละปี สำหรับในปีล่าสุด ค.ศ. ๒๐๒๒ คือบทเพลง Minuet Op. 11, No. 1 ประพันธ์โดย Fernando Sor (1778-1839) และบทเพลง Gran Vals ประพันธ์โดย Francisco Tárrega (1852-1909) ทั้งสองเป็นคีตกวีชาวสเปนทั้งคู่ ต่างกันเพียงแค่ยุคสมัยของดนตรี ซึ่ง Sor มาจากยุคคลาสสิก Tárrega มาจากยุคโรแมนติก การใช้เพลงบังคับต่างยุคกันจะเป็นการทดสอบการตีความการบรรเลงของผู้เข้าแข่งขันได้อย่างชัดเจนในสายตาคณะกรรมการ
จุดเด่นของเพลงบังคับในรอบนี้คือ ทางงานมักใช้เพลงที่มีระดับความง่ายไปจนถึงง่ายที่สุด เป็นความท้าทายของผู้เข้าแข่งขันว่าจะบรรเลงบทเพลงธรรมดาที่ง่ายแสนง่ายนี้ให้ออกมาน่าสนใจได้อย่างไร
๒. รอบคัดเลือก รอบที่สอง
งานนี้เลือกใช้คำว่า “2nd Preliminary Round” แทนคำว่า Semifinal round อันเนื่องมาจากโปรแกรมของบทเพลงที่สั้นเสมือนกับรอบคัดเลือก (โดยปกติแล้ว รอบรองชนะเลิศ จะต้องบรรเลงบทเพลงความยาวไม่ต่ำกว่า ๑๕ นาที) โดยในรอบนี้จะประกอบไปด้วยบทเพลงบังคับหนึ่งเพลง ในระดับความยากปานกลางไปจนถึงสูง สำหรับในปีล่าสุด (ค.ศ. ๒๐๒๒) คือท่อนแรกจากบทเพลง Sonata Clásica ประพันธ์โดย Manuel Maria Ponce (1882-1948) นักประพันธ์ชาวเม็กซิกัน และบทเพลงเลือกอิสระ ความยาวไม่เกิน ๘ นาที

รอบที่หนึ่งและสอง
๓. รอบชิงชนะเลิศ
รอบชิงชนะเลิศ เรียกได้ว่าเป็บรอบการประกวดที่ยากและยาวที่สุด โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องบรรเลงบทเพลงความยาว ๒๐-๓๐ นาที ประกอบไปด้วยบทเพลงบังคับที่ประพันธ์โดยนักประพันธ์ชาวญี่ปุ่น สำหรับในปีล่าสุด (ค.ศ. ๒๐๒๒) คือบทเพลง Folios for guitar ประพันธ์โดย Tōru Takemitsu (1930-1996)

สำหรับบทเพลงเลือกอิสระที่ไม่อิสระในงานโตเกียวนั้น จะเป็นไปในลักษณะแบบ “บังคับยุคทางประวัติศาสตร์ดนตรีคลาสสิก” ซึ่งจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกันในการประกวดทุก ๆ ปี บทเพลงบังคับยุคในงานนี้จะประกอบไปด้วยบทเพลง ๓ ประเภท ดังต่อไปนี้
– บทเพลงตั้งแต่ยุค Renaissance จนถึงยุค Baroque
– บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๗๕๐ ไปจนถึงปี ค.ศ. ๑๙๒๐
– บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นหลังปี ค.ศ. ๑๙๒๐ โดยรวมแล้ว ลักษณะการจัดโปรแกรมเพลงในลักษณะนี้ มีความคล้ายคลึงกับงานแข่งขันกีตาร์คลาสสิกนานาชาติที่ประเทศไต้หวันเป็นอย่างมาก (Taiwan International Guitar Competition) เนื่องจากงานนี้ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมกีตาร์คลาสสิกญี่ปุ่นที่นำโดย Shin-Ichi Fukuda นักกีตาร์คลาสสิก ผู้เป็นปูชนียบุคคลของวงการกีตาร์คลาสสิกในประเทศญี่ปุ่น โดยงานนี้ได้รับสมญานามว่า “Major Classical Guitar Competition in Asia”

นอกจากในเรื่องของโปรแกรมเพลงที่มีจุดเด่นไม่เหมือนใครแล้ว งานโตเกียวยังขึ้นชื่อในเรื่องของความเข้มงวด ตารางการเปิดปิดรับสมัคร และจำนวนเพลงบังคับที่มากกว่างานอื่น ๆ ในระดับสากล ซึ่งจะประกอบไปด้วยจุดเด่นสามข้อหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
๑. เข้มงวดเรื่องเวลามาก ๆ ห้ามขาดห้ามเกินแม้แต่วินาทีเดียว
โดยส่วนใหญ่งานแข่งขันกีตาร์คลาสสิกในฝั่งยุโรปและอเมริกามักมีการผ่อนปรนในเรื่องของความยาวบทเพลง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าต้องบรรเลงบทเพลงความยาว ๓๐ นาที การบรรเลงเกินเวลาในหลักวินาทีอาจได้รับข้อยกเว้น หรือใช้วิธีลงโทษโดยการตัดคะแนน หรือสั่งให้หยุดเล่น แต่สำหรับงานที่โตเกียวนั้น หากเล่นไม่ครบเวลาหรือเกินเวลาแม้แต่วินาทีเดียวจะถูกปรับแพ้ทันที (กรรมการยกเลิกการลงคะแนน) การเข้มงวดเรื่องเวลามักเกิดขึ้นในงานแข่งขันกีตาร์คลาสสิกในทวีปเอเชีย ยกตัวอย่างเช่น Changsha International Guitar Competition เมืองฉางซา ประเทศจีน, Taiwan International Guitar Competition ประเทศไต้หวัน, Altamira Hong Kong International Guitar Competition ที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง หรือแม้กระทั่ง Asia International Guitar Competition ที่ประเทศไทยเองก็เคยมีการปรับแพ้ จากการบรรเลงบทเพลงไม่ครบตามกำหนดเวลามาแล้ว

๒. ปิดรับสมัครล่วงหน้าหลายเดือน
งานแข่งขันกีตาร์คลาสสิกโดยส่วนใหญ่นั้นมักปิดรับสมัครประมาณหนึ่งเดือนหรือเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนการแข่งขัน แต่สำหรับงานโตเกียวนั้น ได้กำหนดการปิดรับสมัครถึงสามเดือนก่อนการแข่งขัน ยกตัวอย่างเช่น งานประกวดจัดขึ้นในเดือนธันวาคม แต่ผู้เข้าประกวดจะต้องส่งใบสมัครและวิดีโอการบรรเลงรอบคัดเลือกภายในสิ้นเดือนสิงหาคม อย่างไม่มีข้อยกเว้น
๓. จำนวนเพลงบังคับมากมายก่ายกอง
๒ บทเพลงบังคับในรอบแรก ๑ บทเพลงบังคับในรอบที่สอง ๑ บทเพลงบังคับในรอบชิงชนะเลิศ และอีกการบังคับยุคในรอบชิงชนะเลิศ งานกีตาร์คลาสสิกงานใหญ่ระดับโลกมักมีการใช้บทเพลงบังคับเพียง ๑-๒ เพลงเท่านั้น แต่สำหรับงานโตเกียวมีการใช้เพลงบังคับถึง ๔ เพลง บังคับยุคอีก ๓ เพลง รวมเป็นทั้งหมด ๗ เพลงบังคับ เรียกได้ว่าหากเตรียมตัวที่จะมาแข่งในงานโตเกียวแล้ว จะต้องทุ่มเทเวลาในการซ้อมที่มีอยู่ทั้งหมดให้เพลงบังคับเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงบทเพลงบังคับเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลงทุก ๆ ปี หากต้องการจะประกวดซ้ำ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องฝึกบทเพลงใหม่ทั้งหมดยกโปรแกรม
สำหรับรางวัลในงานประกวดโตเกียวนั้นสมราคากับความยากและความโหด ผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินสด ๑,๐๐๐,๐๐๐ เยน และกีตาร์คลาสสิกโดย Kohno Guitar Manufacturing สร้างโดย Masaki Sakurai ซึ่งเป็นหนึ่งในกีตาร์คลาสสิกทำมือที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก รวมถึงยังได้รับโอกาสแสดงคอนเสิร์ตทัวร์ทั่วประเทศญี่ปุ่น สนับสนุนโดยบริษัท Yamaha ที่สองจะได้รับเงินสด ๓๐๐,๐๐๐ เยน ส่วนที่สามได้รับเงินสด ๑๐๐,๐๐๐ เยน ลดลงตามลำดับ

และนี่ก็คืองานแข่งขันกีตาร์คลาสสิกงานใหญ่ระดับโลก ตัวแทนหนึ่งเดียวจากทวีปเอเชียที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ยาวนาน จนได้ชื่อว่าเป็นการประกวดที่เก่าแก่ที่สุดในโลกตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สามารถค้นพบได้ ในตอนต่อไปจะเป็นงานแบบไหน แน่นอนว่าไม่ใช่งานที่เก่าแก่ที่สุด ไม่ใช่งานที่เข้มงวดที่สุด ไม่ใช่งานที่เพลงบังคับเยอะที่สุด แต่จะเป็นงานที่สุดในด้านไหน แบบใด อย่างไร ซีกไหนของโลกใบนี้ ที่ได้ยินชื่อแล้วอาจจะต้องขนลุก โปรดติดตามตอนต่อไป…
