TikTok สายดนตรีไทย “FOAM โฟม คนจะเข้”

09 Mar 2023

การสัมภาษณ์ครั้งนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับนักเรียนดีเด่นจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล นั่นก็คือ โฟม อรจิรา อุดมจรรยา ศิษย์เก่าสาขาวิชาดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก เครื่องมือเอกจะเข้ ปัจจุบันยังเป็น ดาว TikTok ที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์และจะเข้อีกด้วย วันนี้เราไปรู้จักน้องโฟมกันครับ

ทำไมถึงเลือกมาเรียนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่มัธยม

ตอนโฟมเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๔ เคยตั้งใจไว้ว่าจะไปเป็นวิศวกรในอนาคต แบบจริง ๆ จัง ๆ ด้วยนะ แล้วดันมีเพื่อนที่เรียนโรงเรียนเดียวกันตอนนั้นเขาบอกว่า เขาอยากมาเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วไม่อยากมาคนเดียว เราก็เลยมาสอบเป็นเพื่อน พอมาถึงแล้วก็มาเจอสถานที่ มาเจออาจารย์ จริง ๆ ตอนสอบเล่นไม่ได้เลย มารู้ก็ตอนมาเจออาจารย์ ตอนสอบอาจารย์บอกว่าที่เราเล่นจะเข้มามันผิดหมดเลย อาจารย์บอกให้เปลี่ยนวิธีเล่นดู วิธีพันไม้กับนิ้วเวลาเล่นจะเข้มันผิดวิธีนะ พอทำถูกวิธีแล้วมันไม่คุ้น หนูเล่นไม่ได้เลย ก็เลยร้องไห้ตั้งแต่ออกจากห้องสอบเลยค่ะในวันนั้น แต่ความรู้สึกหนูตอนนั้นรู้สึกว่าอาจารย์เขายินดีที่จะสอนเรามาก เราก็เลยอยากเรียน อยากเล่นดนตรีไทย พอได้เจออาจารย์ เลยมีความคิดหนึ่งว่า ถ้าเราพร้อม ถ้าเรามีเงินแล้ว เรามีความตั้งใจที่จะเรียนดนตรีไทยแล้ว และถ้าเราไม่เรียน แล้วจะมีใครที่จะเรียนดนตรีไทยอีกไหม จะมีใครที่จะสืบสานดนตรีไทยต่อไปไหม ตอนนั้นเราพร้อม เรามีใจ เราก็เรียนดีกว่า (แล้ววิศวะล่ะ – ทีมงานถาม) ก็ทิ้งไปเลยค่ะ


ทำไมเลือกดนตรีไทย

มีคนเล่นดนตรีอื่น ๆ เยอะแล้ว เด็ก ๆ อาจจะรู้สึกว่าดนตรีไทยมันเชย โบราณ แต่ถ้าเราเห็นมันจริง ๆ เราจะเห็นว่าดนตรีไทยมีหลาย ๆ อย่างที่พัฒนาได้ และเป็นสมบัติของชาติ ถ้าคนไทยไม่ดูแล ก็ไม่มีใครดูแล แล้วถ้าคนรุ่นใหม่ไม่ขึ้นมา เราจะให้ครูบาอาจารย์หรือคนอายุมากมาดูและสุดท้ายเขาก็จะต้องจากโลกนี้ไป แต่เราไม่มีเด็กรุ่นใหม่สร้างมิติใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น ดนตรีไทยจะอยู่ต่อไปได้ไหม ซึ่งดนตรีไทยมีคุณค่ามาก ๆ ไม่มีชาติไหนมีแบบที่เรามี

ดนตรีไทยพอสังเขป

ดนตรีไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นวัฒนธรรมร่วมค่ะ เราจะเห็นเครื่องดนตรีอย่างระนาด จะเข้ ในเขมร ลาว อินโดนีเซีย เราจะเห็นเครื่องดนตรีที่มันมีลักษณะคล้าย ๆ กัน พอมันเข้าไปอยู่ในประเทศต่าง ๆ ก็จะถูกพัฒนาไปในแบบของประเทศนั้น ๆ ระนาดที่อยู่ที่ไทยก็จะเล่นเพลงของไทยที่ถูกพัฒนาขึ้นมา จะเข้ที่อยู่ที่เขมรก็จะเล่นเพลงของแต่ละชาตินั้น ๆ การแกะสลัก การพัฒนาทุก ๆ อย่าง โดยครูบาอาจารย์ที่เป็นพลเมืองของชาตินั้น ๆ ในแผ่นดินสุวรรณภูมิ

เตรียมอุดมดนตรี

ตอนแรกคิดว่ามันจะไม่เครียด ทุกคนน่าจะคิดแบบนี้นะหนูว่า มาเรียนดนตรีน่าจะสบาย ๆ มันคงผ่อนคลาย พอมาเรียนจริง ๆ แล้ว หนูคิดว่ามันเครียดมากกว่าเรียนวิศวะอีกนะ อย่างวิศวะเราทำความเข้าใจหรือท่องจำภายในคืนเดียว หนูว่าหนูทำได้นะ แต่ดนตรีมันไม่สามารถทำให้ทุกสิ่งเกิดขึ้นได้ภายในคืนเดียว ถ้าครูให้เพลงไปแล้วพรุ่งนี้มาเล่น มันทำไม่ได้ มันต้องใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่งในการฝึกฝน หนูน่าจะเป็นรุ่นแรก ๆ ที่ได้เข้าไปเรียนที่ตึกเตรียมอุดมดนตรี หนูว่าการเรียนที่นี่ ตอนนี้เป็นโรงเรียนประจำแล้ว มันก็มีข้อดีข้อเสียของมันนะ ตอนที่หนูเรียนด้วยความที่ยังไม่ได้เป็นโรงเรียนประจำ ความอิสระก็เยอะมาก ๆ ก็เลยมีเพื่อน ๆ ที่หายไประหว่างทาง หมายถึงว่าออกไปกลางคัน จากหลาย ๆ สาเหตุ การที่เป็นโรงเรียนประจำแล้วเคร่งครัดมาก ๆ ก็จะทำให้เรามีเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้เราโฟกัสแค่เรื่องดนตรีเท่านั้น

อุดมศึกษา

มันก็มีการเปลี่ยนแปลงนิดหน่อยค่ะ แต่พอหนูเรียนจบแล้วหนูว่าตอนเรียนช่วงมัธยมมันมีอะไรให้ทำเยอะกว่า มีหลาย ๆ สิ่งที่ทำให้เราเติบโตอย่างก้าวกระโดด เราเรียนที่นี่เราก็ได้ทำคอนเสิร์ตมา ๓ ครั้งแล้ว แต่พอมาเรียนมหาวิทยาลัยเหมือนคนเยอะขึ้นก็จะเฉลี่ยกันไปเติบโต ก็จะออกไปทำงานข้างนอก เติบโตข้างนอก ก็ตามวัยแหละค่ะ

๗ ปีที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

มันเยอะมาก มันสร้างสิ่งที่ชัดเจนคือโอกาส ที่นี่ให้โอกาสเรา ได้สัมผัสกับนักดนตรีที่เป็นมืออาชีพจริง ๆ บางทีตอนที่เราเรียนอาจจะไม่รู้ แต่พอเราจบไปแล้ว เราได้ทำงาน เราจะรู้ว่าสิ่งที่เรารู้มาจากการทำงานหรือว่าการเห็นคนที่เป็นมืออาชีพจริง ๆ เขาทำงานกันอย่างไร เขาใช้ชีวิตกันอย่างไร มันทำให้เรามีประสบการณ์โดยที่เราไม่รู้ตัว เราจะวางตัวเป็นในโลกของสังคมดนตรี เราจะรู้ว่าเราควรจะใช้ความรู้ที่เรามีอย่างไร ถ้าเราเจอคนฟังแบบนี้ เราต้องเสนออะไรให้เขาฟัง ที่นี่สอนค่ะ ที่นี่ไม่ได้สอนเป็นการโยนหนังสือมาให้เราแล้วให้เราไปเรียนรู้ แต่ที่นี่สอนว่า ถ้าเราเจอคนดูแบบนี้ คนดูที่เป็นนักดนตรีเราต้องเสนออะไร คนดูที่เป็นคนทั่วไปต้องเสนออะไร เขาจะเข้าใจอะไร ได้โอกาส ได้ความรู้ก็คือได้เต็มที่เลย ได้อย่างหลากหลาย ดนตรีไทยก็ต้องรู้ ดนตรีสากลก็ต้องรู้ อย่างเวลามีกิจกรรมเราก็ได้เจอนักดนตรีระดับโลกใกล้ ๆ ได้เรียน ได้เข้าเวิร์กชอป ได้ทำงานจริง ๆ เหมือนเราได้เรียนรู้โลกของดนตรีขนาดย่อมาไว้ที่นี่ ให้เราได้เรียนรู้ก่อนที่เราจะออกไปใช้ชีวิตเป็นนักดนตรีจริง ๆ ในโลกของดนตรี คือวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สอนให้เราเป็นนักดนตรีมืออาชีพจริง ๆ

TikTok สายดนตรีไทย “FOAM โฟม คนจะเข้”

หนูก็ว่าหนูเริ่มมาเหมือนคนอื่น ๆ นะคะ ตอนแรกก็อยากเล่นอวดแมว แมวน่ารักอยากให้คนดูแมว แต่คนไม่ดูแมว ก็เลยเอาวิดีโออะไรก็ได้ที่ตัวเองมีอยู่ใส่ลงไป แล้วมันก็เวิร์ก ดนตรีไทยธรรมดาเลย เล่นเพลงทั่วไปที่เราคิดว่ามันง่าย เอาลงไป มันกลายเป็นมียอดวิวสามสี่แสน ทำไม คนชอบดูดนตรีไทยเหรอ มันก็เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่ไว้เผยแพร่ดนตรีไทย บางทีคนอาจจะลืมไปว่าดนตรีไทยมันน่ากลัว มันเหมือนผี มันมากับภาพยนตร์อะไรแบบนี้ เราแค่โยนมุมมองอื่น ๆ ให้เขา มันมาแบบสวยก็ได้นะ มันไม่ต้องช้า มันเร็วก็ได้ เราแซ่บก็ได้นะ มันทำให้คนเห็นและคนสนใจดนตรีไทยมากขึ้น เราเข้าไปนั่งในใจคนดูก่อน เราก็เริ่มเล่นจากเพลงง่าย ๆ และป๊อบที่ทุก ๆ คนฟัง มันก็ทำให้คนเข้าถึงดนตรีไทยได้มากขึ้นไปด้วย

อนาคตของโฟม อรจิรา อุดมจรรยา

ตอนนี้โฟมเรียนปริญญาโทอยู่ค่ะ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ก็สาขาดุริยางคศิลป์เหมือนเดิม แล้วก็สอนด้วย เป็นทั้งคุณครู เป็นนักเรียน เป็น TikToker ทำงานอีเวนต์ต่าง ๆ งานเบื้องหลังมีมากมาย สุดท้ายโฟมอยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มันอาจจะดูธรรมดา แต่โฟมชอบที่จะสอนผู้ใหญ่ เราคิดว่าเรามีศักยภาพนั้น ถ้าเขาอยากไปไหน หนูอยากเป็นผู้นำทางให้เขาไปในทิศทางนั้น หนูเข้าใจเด็กนะ เพราะเราก็เป็นคนรุ่นใหม่ และหนูก็เข้าใจความเป็นครูผู้ใหญ่ด้วย ว่าเขาคิดอย่างไร เขาเห็นอย่างไร ถ้าเรามาสอน เราก็จะสามารถทำให้เด็กของเรารู้ทั้งมุมมองเก่าและมุมมองใหม่ เลยอยากเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย พยายามจะให้จบปริญญาเอกภายในอายุ ๓๐ นี้ค่ะ

Attawit Sittirak

เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล