มนุษย์/ดนตรี/หนังสือ ตอนที่ ๗ อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. ธันวารชร

09 Mar 2023


ในอดีต แผ่นเสียง นับเป็นสื่อบันทึกเสียงที่สำคัญและแพร่หลายมากที่สุดในยุคสมัย ทั่วทั้งโลกมีการบันทึกเสียงเพลง เสียงพูด และเสียงอื่น ๆ ลงบนสื่อชนิดนี้เป็นจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน แน่นอนว่าในประเทศไทยหรือสยาม ดินแดนที่มักได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่เรียนรับปรับปรุงวัฒนธรรมวิทยาการจากต่างชาติมาใช้เสมอมา

ตั้งแต่ช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา ก็ได้เริ่มมีการบันทึกเสียงดนตรีลงบนแผ่นเสียงแล้ว อย่างไรก็ตามการบันทึกแผ่นเสียงของไทยในช่วงแรก ยังเป็นการบันทึกในประเทศไทยและส่งต้นฉบับเสียงไปทำสำเนาที่ต่างประเทศเพื่อจัดจำหน่ายต่อไป ทั้งยังเป็นแผ่นเสียงที่ดำเนินการโดยบริษัทต่างชาติ ประวัติศาสตร์เรื่องธุรกิจดนตรีในประเทศไทยซึ่งมีเรื่องของธุรกิจแผ่นเสียงบรรจุอยู่ภายในนั้น จะไม่มีทางสมบูรณ์ลงได้เลยหากเราไม่ได้กล่าวถึงบุคคลสำคัญท่านหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นพ่อค้าผู้มีวิสัยทัศน์ในทางธุรกิจ ยังนับได้ว่าเป็นผู้มีคุณูปการอย่างสูงในการขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมการดนตรีในประเทศไทย ผู้ซึ่งได้บันทึกและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมการดนตรีเหล่านั้นให้เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ผู้เขียนกำลังกล่าวถึง นาย ต. ธันวารชร หรือรู้จักกันในนามนาย ต. เง็กชวน

ใน มนุษย์/ดนตรี/หนังสือ ตอนที่ ๗ นี้ ผู้เขียนจะขอนำเสนอหนังสืออนุสรณ์ผู้วายชนม์ที่สำคัญอีกเล่มหนึ่ง ที่ควรค่าแก่การเปิดอ่าน โดยเฉพาะผู้ที่สนใจในประวัติศาสตร์ธุรกิจดนตรีในประเทศไทย นั่นคือ อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. ธันวารชร บ.ม. ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๑๔

นาย ต. ธันวารชร หรือ นาย ต. เง๊กชวน

ชื่อนาย ต. เง๊กชวน เป็นที่รู้จักดีในหมู่นักเล่นแผ่นเสียงและนักประวัติศาสตร์ที่สนใจศึกษาในประเด็นไม่ว่าจะเป็นดนตรี ภาพยนตร์ เป็นต้น ประวัติของนาย ต. ธันวารชร หรือ นาย ต. เง๊กชวน ย่อมาจาก เตีย เง๊กชวน (ซึ่งหลังจากนี้จะขอใช้ชื่อ ต. เง๊กชวน เรียกตลอดทั้งบทความ) สามารถสรุปได้โดยสังเขปดังนี้ นาย ต. เง๊กชวน เกิดเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ ณ ตำบลตลาดบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบุตรคนที่ ๒ จาก ๖ คน ของนายยิ่งเกี๊ยดและนางเหลี่ยม จบการศึกษาเพียงแค่ในระดับชั้นมูลศึกษา จากวัดเทพนิมิตร บริเวณบ้านเกิดของนาย ต. เง๊กชวน เอง ก่อนที่จะถูกส่งตัวมาทำงานในกรุงเทพฯ ขณะมีอายุเพียง ๑๗ ปีเท่านั้น


นาย ต. เง๊กชวน นับได้ว่าเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาดและขยันขันแข็ง ทั้งยังมีความซื่อสัตย์ กตัญญู ทำให้ตนสามารถไต่เต้าและมีความเจริญในหน้าที่การงานเป็นอย่างดี เริ่มต้นตั้งแต่การเป็นเด็กรับใช้ เด็กเก็บเงิน ผู้ควบคุมการฉายภาพยนตร์ของสายหนัง ไปจนถึงผู้จัดการโรงภาพยนตร์ เป็นต้น จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ (อ้างจากในหนังสืออนุสรณ์ผู้วายชนม์ของนาย ต. เง๊กชวน) ที่นาย ต. เง๊กชวน ได้เปิดร้านค้าของตนเอง คือ ร้าน นาย ต. เง๊กชวน อันสั่งสมมาจากอุปนิสัยที่รักในการค้าขายตั้งแต่ยังทำงานในสายภาพยนตร์ซึ่งยังไม่มีกิจการเป็นของตนเอง ควบกับตำแหน่งผู้จัดการโรงภาพยนตร์บางลำพู ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงร้านค้าที่ได้เปิดกิจการ


ร้านค้าที่นาย ต. เง๊กชวน ได้เปิดขึ้นนั้น เริ่มต้นจากการนำของใช้ทั่วไป จำพวกของใช้เบ็ดเตล็ด เครื่องสำอาง เสื้อผ้า ก่อนที่ต่อมาจะมีการขยับขยาย มีการจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับเพลงดนตรี ไปจนถึงภาพยนตร์ ฯลฯ จัดจำหน่าย ด้วยจุดแข็งประการหนึ่งของร้านนาย ต. เง๊กชวน นั้น คือเป็นร้านค้าที่เปิดถึงช่วงเวลาดึก ซึ่งแตกต่างจากร้านอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกันที่มักจะปิดในช่วงเย็น ประจวบกับทำเลที่อยู่ใกล้โรงภาพยนตร์บางลำภูที่นาย ต. เง๊กชวน เป็นผู้จัดการดูแล ส่งผลให้ร้านค้าแห่งนี้เจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ มีลูกค้ามากหน้าหลายตาแวะเวียนไม่ขาด หนึ่งในสินค้าเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่นและแปลกใหม่ในยุคสมัยนั้นของร้านนาย ต. เง็กชวน นั่นคือหนังสือโปรแกรมภาพยนตร์ ที่ตีพิมพ์เพื่ออธิบายเรื่องราวของภาพยนตร์เป็นภาษาไทย อันเป็นภาพยนตร์ที่ถูกนำมาจัดฉายในโรงภาพยนตร์บางลำพูบริเวณเดียวกันนั่นเอง มีนาย ต. เง๊กชวน เป็นผู้จัดการโรงภาพยนตร์


เมื่อกิจการเติบโตขึ้น นาย ต. เง๊กชวน ได้เริ่มออกจำหน่ายแผ่นเสียงเป็นผลิตภัณฑ์ประจำร้านของตัวเอง ใช้ชื่อว่าแผ่นเสียงตรากระต่าย โดยได้บันทึกเพลงไทยสากล เพลงไทยเดิม บทเพลงประจำท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ออกจำหน่าย จำนวนมากมายมหาศาล ซึ่งได้เสียงตอบรับที่ค่อนข้างดีมาก ส่งผลให้ร้านของนาย ต. เง๊กชวน ยิ่งเป็นที่รู้จักขึ้นไปอีก สื่อบันทึกเสียงเหล่านี้ต่อมาได้กลายเป็นปรากฏการณ์ส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมดนตรีในประเทศไทยที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้น


นาย ต. เง๊กชวน เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๓ สิริอายุได้ ๘๑ ปี จากอาการไข้หวัดใหญ่และโรคชรา มีบุตรและธิดารวมทั้งสิ้น ๑๕ คน ภายในงานพระราชทานเพลงศพของนาย ต. เง๊กชวน ได้มีการจัดทำหนังสืออนุสรณ์ผู้วายชนม์ขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นหนังสือที่มีคุณค่าและบันทึกประวัติศาสตร์ทางดนตรีของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี โดยจะขอแนะนำในส่วนต่อไป

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. ธันวารชร

หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. ธันวารชร ตีพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ พิมพ์ที่โรงพิมพ์สามมิตร ซอยทิพย์วารี บ้านหม้อ กรุงเทพมหานคร เป็นหนังสือเล่มหนากว่า ๒๐๐ หน้า ตีพิมพ์เพื่อแจกเป็นบรรณาการอนุสรณ์แก่ผู้ที่มาเข้าร่วมในงานพระราชทานเพลิงศพของ นาย ต. เง๊กชวน ภายในตัวเล่มนอกจากเนื้อหาที่พึงปรากฏทั่วไปในหนังสืออนุสรณ์ผู้วายชนม์ เช่น ประวัติผู้วายชนม์ คำไว้อาลัย เป็นต้นแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังบรรจุเนื้อหาที่มีคุณค่าในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การแพทย์ ธรรมะ และการดนตรี จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ที่เคยเข้ามาอยู่ในฉากชีวิตหนึ่งของนาย ต. เง๊กชวน โดยหนังสือเล่มนี้มีแกนนำหลักในการจัดทำคือ นายเอก (ประยงค์) ธันวารชร บุตรคนที่ ๔ ของนาย ต. เง๊กชวน หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. เง๊กชวน เล่มนี้ แบ่งออกเป็นส่วนต่าง ๆ ได้แก่

– ส่วนต้น ประกอบไปด้วย คำปรารภ ประวัติของนาย ต. เง๊กชวน เอกสารสำคัญ (จดหมายตราตั้ง จดหมายพระราชทานนามสกุล) และภาพถ่ายในงานศพของนาย ต. เง๊กชวน

– ส่วนของเนื้อหา ซึ่งเป็นส่วนที่เขียนขึ้นโดยญาติสนิทมิตรสหายของนาย ต. เง๊กชวน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของคำไว้อาลัย บทความเชิงความรู้สารคดีต่าง ๆ บทความด้านธรรมะ ด้านดนตรี เป็นต้น โดยมีบุคคลสำคัญที่ได้ร่วมจัดทำในส่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็น นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก, ศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์, ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสนอ อินทรสุขศรี เป็นต้น

– ส่วนข้อเขียนพิเศษ เขียนขึ้นโดย นาย ต. เง๊กชวน มีการเกริ่นหัวและคำอธิบายว่า “ชีวิตและผลงานบางส่วน ของนาย ต. ธันวารชร (ต. เง๊กชวน) ที่ท่านได้ประพันธ์ขึ้น นำลงพิมพ์ไว้ในสมุดอนุสรณ์ กระต่าย ๒๕ ปี และจากหนังสือชุมนุมเพลงกระต่ายบางเล่ม” ในส่วนนี้นับเป็นข้อเขียนที่มีความสำคัญ เพราะผู้วายชนม์ คือ นาย ต. เง๊กชวน เป็นผู้บันทึกไว้ด้วยตนเองในขณะที่ยังมีชีวิต จากประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ตนได้ประสบพบเจอ เป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าที่มักไม่ปรากฏในหนังสือประวัติศาสตร์โดยทั่วไป


ในการนี้ ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างเนื้อหาบางส่วนจากหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. เง๊กชวน เล่มนี้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้เห็นถึงคุณประโยชน์และคุณค่าของหนังสือเล่มสำคัญเล่มนี้ โดยเฉพาะในทางดนตรีที่ยังคงมีประเด็นน่าสนใจหลายต่อหลายเรื่องให้นำมาต่อยอด

ชวนอ่านเนื้อหาในเล่ม

เนื้อหาภายในเล่มหลายส่วนได้กล่าวถึงนาย ต. เง๊กชวน ในช่วงเวลาที่ยังมีชีวิต อันมีหลายต่อหลายมุมมอง ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจนั่นคืออุปนิสัยของนาย ต. เง๊กชวน ที่เป็นผู้ที่มีความสนใจและความศรัทธาในการที่ต้องการจะอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมการดนตรีของไทย ดังปรากฏในส่วนหนึ่งของเนื้อหาคำไว้อาลัยของศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ กล่าวว่า

“…ระยะหลังนี้ คุณ ต. เป็นคนธรรมะธรรมโมหมั่นไปฟังเทศน์ฟังธรรมที่วัดต่าง ๆ เสมอ จึงในวันหนึ่งก็โคจรไปพบกับผมเข้าที่วัดเบญจมบพิตร วันนั้นผมเผอิญเอามโหรีเครื่องใหญ่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปช่วยงานเจ้าคุณเจ้าอาวาสท่าน คุณ ต. นั่งฟังอยู่พักหนึ่งก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในความไพเราะของวงมโหรีเป็นอันมาก จึงได้เข้ามาแนะนำตนเองพร้อมทั้งแสดงความประหลาดใจว่าดนตรีอะไรเสียงช่างดังไพเราะจริง ๆ …คุณ ต. หันไปหันมาสักครู่หนึ่งก็เอ่ยปากชวนให้ผมไปอัดแผ่นเสียง บอกว่าดนตรีไพเราะ ๆ อย่างนี้ควรจะต้องอัดไว้ …คุณ ต. ก็มีจดหมายไปย้ำอีกว่าเรื่องที่พูดกันนั้นจะเอาจริงละนะ ผมก็เฉยเสีย คุณ ต. จะเขียนไปอย่างไรผมก็ไม่พูดจาด้วย คุณ ต. ก็เขียนแล้วเขียนอีก ลงท้ายอุตส่าห์ถ่อร่างอันชราของคุณ ต. ไปหาผมถึงบ้าน อ้อนวอนให้ผมไปอัดเสียง …คุณ ต. ตั้งใจอัดแผ่นเสียงเพลงไทยประเภทต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่คนอื่นไม่มีใครเขาค่อยอยากอัดเท่าใดนักดอก ทั้งนี้เพราะเขาคิดรายได้เป็นตัวเงินตัวทองเข้ามาเป็นส่วนใหญ่ ถ้าไม่มีคุณ ต. ผมคิดว่าพวกเราจะหาแผ่นเสียงเพลงไทยฟังได้น้อยเต็มที จึงขอขอบพระคุณ คุณ ต. ไว้ในที่นี้ด้วย…” (ย่อความจากคำไว้อาลัยของศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ในหัวข้อคำไว้อาลัยว่า “ผมไปอัดเสียงกับคุณ ต. เง๊กชวน”)

จะเห็นได้ว่า ข้อความข้างต้นดังกล่าวนั้น แสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่และความตั้งมั่นของ นาย ต. เง๊กชวน ในการที่จะกระทำการใด ๆ ให้ประสบความสำเร็จ ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นผู้ที่มีความเอาใจใส่ต่อศิลปวัฒนธรรมการดนตรีประจำชาติ ที่ต้องการจะบันทึกเสียงดนตรีไทยให้มีการสืบทอดยืนยาวต่อไป

อีกข้อเขียนสำคัญที่ถูกบรรจุอยู่ในอนุสรณ์ผู้วายชนม์เล่มนี้ คือข้อเขียนของนาย ต. เง๊กชวน เอง โดยผู้เขียนได้หยิบนำข้อเขียนหนึ่งที่ชื่อว่า ต. เง๊กชวน ธันวารชร เล่า เรื่อง “กระบอกเสียง” กล่าวถึงสื่อบันทึกเสียงแรกอย่างกระบอกเสียง ประดิษฐกรรมบันทึกเสียงชนิดแรกของโลกโดยโทมัส อัลวา เอดิสัน ที่นาย ต. เง๊กชวน ได้มีประสบการณ์ร่วมในการชมการสาธิตการบรรเลงและการบันทึกเสียง ข้อเขียนดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงความอยากรู้ ช่างสังเกตของผู้เขียน คือนาย ต. เง๊กชวน ได้เป็นอย่างดี ผ่านสำนวนการใช้ภาษาที่เป็นเอกลักษณ์เข้าใจได้ง่าย โดยภายในข้อเขียนได้เล่าตั้งแต่บรรยากาศโดยรอบไปจนถึงรายละเอียดเชิงลึกที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษาทางประวัติศาสตร์ในประเด็นของกระบอกเสียงในประเทศไทย จะขอยกตัวอย่างบางส่วนดังนี้

“…คำว่า ‘กระบอกเสียง’ ที่ข้าพเจ้านำมาเล่าต่อไปนี้ ไม่ใช่กระบอกเสียงของใคร และก็ไม่ใช่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อให้แก่ผู้ใด ‘กระบอกเสียง’ ที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงนี้เป็นวัตถุตัวจริงมีลักษณะเหมือนชื่อ…

…เจ้า ‘กระบอกเสียง’ นี่สามารถส่งเสียงร้องได้ดังเหมือนตัวงิ้วจริง ๆ ทีเดียว ข้าพเจ้าพยายามจะดูให้รู้แจ้งเห็นจริง…

…‘กระบอกเสียง’ แล้วก็พยายามสังเกตดูว่ามีอะไรบ้างคงจำเครื่องอุปกรณ์ได้หลายอย่าง ดังต่อไปนี้ ๑ มีเหล็กขาตั้งมีเป็นขอสำหรับเกี่ยวแขวนท่อทองเหลืองยาวประมาณ ๑ วาเศษ ตอนต้นเรียวเล็กไปติดกับเครื่อง มีหัวกลมเล็ก (เรียกว่าหัวกระโหลก) สำหรับใส่เข็มเพชร ตอนปลายค่อย ๆ บานใหญ่ออกไปเหมือนดอกลำโพง ตัวเครื่องยาวประมาณศอกเศษแบนนอน มีท่อเหล็กกลม ๆ ขนาดโตวัดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓ นิ้ว ขนาดยาวประมาณ ๑ คืบ มีกุญแจไขลาน เจ้าของเครื่องต้องทำงานเอง เมื่อไขลานตึงแล้วก็หยิบกล่องกระดาษกลม ๆ สูงประมาณ ๕-๖ นิ้ว จากหีบสังกะสีสี่เหลี่ยมกว้างยาวประมาณ ๒ ศอก ออกมาเปิดฝากล่องหยิบเอาวัตถุสิ่งหนึ่งสีเหมือนงาช้างรูปร่างกลวงกลมเหมือนกระบอกไม้ไผ่ขนาดกลางที่ตัดยาวประมาณ ๔-๕ นิ้ว มีรอยเป็นเส้นรอบ ๆ ตลอดกระบอกสีงาช้างนั้นเอาไปสวมเข้ากับท่อเหล็กที่เครื่อง ๆ ก็เริ่มหมุนเดิน แล้วเอาหัวที่ติดเข็มเพชรวางลงไปที่เนื้อกระบอกสีงาช้าง ทันใดนั้นเสียงเพลงต่าง ๆ ก็ดังออกไปที่ดอกลำโพง….

…คำว่า ‘กระบอกเสียง’ ซึ่งมีตัวจริงสมชื่อในสมัยกระโน้นได้มาเป็นต้นกำเหนิดของคำว่า ‘กระบอกเสียง’ ในปทานุกรมสมัยใหม่ด้วยประการฉะนี้…” (อ้างจาก อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. ธันวารชร, ๒๕๑๔)


คุณค่าของอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. ธันวารชร เล่มนี้ จึงถือว่ามีคุณค่าสูง ด้วยเป็นการบันทึกข้อเขียนที่หาอ่านได้ยาก และเต็มไปด้วยประเด็นทางดนตรีที่สำคัญมากมาย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจในการศึกษาดนตรีในยุคปัจจุบันต่อไป

ท่านผู้อ่านทุกท่านสามารถเข้าถึงหนังสือ “อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. ธันวารชร” นี้ได้จากคลังข้อมูลดิจิทัลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยใช้คำสำคัญในการค้นหาว่า “ต. เง๊กชวน” หรือ “อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. ธันวารชร บ.ม. ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๑๔” และเช่นเคย ท่านสามารถเข้าถึงเอกสารดังกล่าวผ่านการลงทะเบียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการดำเนินการ

หน้าเว็บไซต์ที่เผยแพร่หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. ธันวารชร
(ที่มา: คลังข้อมูลดิจิทัลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)


ในฉบับต่อไป บทความชุด มนุษย์/หนังสือ/ดนตรี นี้ จะนำเสนอหนังสือเล่มใดต่อท่านผู้อ่าน โปรดติดตามอ่านตอนต่อไปครับ

เอกสารอ้างอิง

เอก ธันวารชร. (๒๕๑๔). อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. ธันวารชร. พระนคร: สามมิตร.

Jit Gavee

อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่