มนุษย์/ดนตรี/หนังสือ ตอนที่ ๗ อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. ธันวารชร

09 มี.ค. 2566


ในอดีต แผ่นเสียง นับเป็นสื่อบันทึกเสียงที่สำคัญและแพร่หลายมากที่สุดในยุคสมัย ทั่วทั้งโลกมีการบันทึกเสียงเพลง เสียงพูด และเสียงอื่น ๆ ลงบนสื่อชนิดนี้เป็นจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน แน่นอนว่าในประเทศไทยหรือสยาม ดินแดนที่มักได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่เรียนรับปรับปรุงวัฒนธรรมวิทยาการจากต่างชาติมาใช้เสมอมา

ตั้งแต่ช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา ก็ได้เริ่มมีการบันทึกเสียงดนตรีลงบนแผ่นเสียงแล้ว อย่างไรก็ตามการบันทึกแผ่นเสียงของไทยในช่วงแรก ยังเป็นการบันทึกในประเทศไทยและส่งต้นฉบับเสียงไปทำสำเนาที่ต่างประเทศเพื่อจัดจำหน่ายต่อไป ทั้งยังเป็นแผ่นเสียงที่ดำเนินการโดยบริษัทต่างชาติ ประวัติศาสตร์เรื่องธุรกิจดนตรีในประเทศไทยซึ่งมีเรื่องของธุรกิจแผ่นเสียงบรรจุอยู่ภายในนั้น จะไม่มีทางสมบูรณ์ลงได้เลยหากเราไม่ได้กล่าวถึงบุคคลสำคัญท่านหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นพ่อค้าผู้มีวิสัยทัศน์ในทางธุรกิจ ยังนับได้ว่าเป็นผู้มีคุณูปการอย่างสูงในการขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมการดนตรีในประเทศไทย ผู้ซึ่งได้บันทึกและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมการดนตรีเหล่านั้นให้เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ผู้เขียนกำลังกล่าวถึง นาย ต. ธันวารชร หรือรู้จักกันในนามนาย ต. เง็กชวน

ใน มนุษย์/ดนตรี/หนังสือ ตอนที่ ๗ นี้ ผู้เขียนจะขอนำเสนอหนังสืออนุสรณ์ผู้วายชนม์ที่สำคัญอีกเล่มหนึ่ง ที่ควรค่าแก่การเปิดอ่าน โดยเฉพาะผู้ที่สนใจในประวัติศาสตร์ธุรกิจดนตรีในประเทศไทย นั่นคือ อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. ธันวารชร บ.ม. ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๑๔

นาย ต. ธันวารชร หรือ นาย ต. เง๊กชวน

ชื่อนาย ต. เง๊กชวน เป็นที่รู้จักดีในหมู่นักเล่นแผ่นเสียงและนักประวัติศาสตร์ที่สนใจศึกษาในประเด็นไม่ว่าจะเป็นดนตรี ภาพยนตร์ เป็นต้น ประวัติของนาย ต. ธันวารชร หรือ นาย ต. เง๊กชวน ย่อมาจาก เตีย เง๊กชวน (ซึ่งหลังจากนี้จะขอใช้ชื่อ ต. เง๊กชวน เรียกตลอดทั้งบทความ) สามารถสรุปได้โดยสังเขปดังนี้ นาย ต. เง๊กชวน เกิดเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ ณ ตำบลตลาดบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบุตรคนที่ ๒ จาก ๖ คน ของนายยิ่งเกี๊ยดและนางเหลี่ยม จบการศึกษาเพียงแค่ในระดับชั้นมูลศึกษา จากวัดเทพนิมิตร บริเวณบ้านเกิดของนาย ต. เง๊กชวน เอง ก่อนที่จะถูกส่งตัวมาทำงานในกรุงเทพฯ ขณะมีอายุเพียง ๑๗ ปีเท่านั้น

นาย ต. เง๊กชวน นับได้ว่าเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาดและขยันขันแข็ง ทั้งยังมีความซื่อสัตย์ กตัญญู ทำให้ตนสามารถไต่เต้าและมีความเจริญในหน้าที่การงานเป็นอย่างดี เริ่มต้นตั้งแต่การเป็นเด็กรับใช้ เด็กเก็บเงิน ผู้ควบคุมการฉายภาพยนตร์ของสายหนัง ไปจนถึงผู้จัดการโรงภาพยนตร์ เป็นต้น จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ (อ้างจากในหนังสืออนุสรณ์ผู้วายชนม์ของนาย ต. เง๊กชวน) ที่นาย ต. เง๊กชวน ได้เปิดร้านค้าของตนเอง คือ ร้าน นาย ต. เง๊กชวน อันสั่งสมมาจากอุปนิสัยที่รักในการค้าขายตั้งแต่ยังทำงานในสายภาพยนตร์ซึ่งยังไม่มีกิจการเป็นของตนเอง ควบกับตำแหน่งผู้จัดการโรงภาพยนตร์บางลำพู ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงร้านค้าที่ได้เปิดกิจการ

ร้านค้าที่นาย ต. เง๊กชวน ได้เปิดขึ้นนั้น เริ่มต้นจากการนำของใช้ทั่วไป จำพวกของใช้เบ็ดเตล็ด เครื่องสำอาง เสื้อผ้า ก่อนที่ต่อมาจะมีการขยับขยาย มีการจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับเพลงดนตรี ไปจนถึงภาพยนตร์ ฯลฯ จัดจำหน่าย ด้วยจุดแข็งประการหนึ่งของร้านนาย ต. เง๊กชวน นั้น คือเป็นร้านค้าที่เปิดถึงช่วงเวลาดึก ซึ่งแตกต่างจากร้านอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกันที่มักจะปิดในช่วงเย็น ประจวบกับทำเลที่อยู่ใกล้โรงภาพยนตร์บางลำภูที่นาย ต. เง๊กชวน เป็นผู้จัดการดูแล ส่งผลให้ร้านค้าแห่งนี้เจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ มีลูกค้ามากหน้าหลายตาแวะเวียนไม่ขาด หนึ่งในสินค้าเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่นและแปลกใหม่ในยุคสมัยนั้นของร้านนาย ต. เง็กชวน นั่นคือหนังสือโปรแกรมภาพยนตร์ ที่ตีพิมพ์เพื่ออธิบายเรื่องราวของภาพยนตร์เป็นภาษาไทย อันเป็นภาพยนตร์ที่ถูกนำมาจัดฉายในโรงภาพยนตร์บางลำพูบริเวณเดียวกันนั่นเอง มีนาย ต. เง๊กชวน เป็นผู้จัดการโรงภาพยนตร์

เมื่อกิจการเติบโตขึ้น นาย ต. เง๊กชวน ได้เริ่มออกจำหน่ายแผ่นเสียงเป็นผลิตภัณฑ์ประจำร้านของตัวเอง ใช้ชื่อว่าแผ่นเสียงตรากระต่าย โดยได้บันทึกเพลงไทยสากล เพลงไทยเดิม บทเพลงประจำท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ออกจำหน่าย จำนวนมากมายมหาศาล ซึ่งได้เสียงตอบรับที่ค่อนข้างดีมาก ส่งผลให้ร้านของนาย ต. เง๊กชวน ยิ่งเป็นที่รู้จักขึ้นไปอีก สื่อบันทึกเสียงเหล่านี้ต่อมาได้กลายเป็นปรากฏการณ์ส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมดนตรีในประเทศไทยที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้น

นาย ต. เง๊กชวน เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๓ สิริอายุได้ ๘๑ ปี จากอาการไข้หวัดใหญ่และโรคชรา มีบุตรและธิดารวมทั้งสิ้น ๑๕ คน ภายในงานพระราชทานเพลงศพของนาย ต. เง๊กชวน ได้มีการจัดทำหนังสืออนุสรณ์ผู้วายชนม์ขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นหนังสือที่มีคุณค่าและบันทึกประวัติศาสตร์ทางดนตรีของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี โดยจะขอแนะนำในส่วนต่อไป

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. ธันวารชร

หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. ธันวารชร ตีพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ พิมพ์ที่โรงพิมพ์สามมิตร ซอยทิพย์วารี บ้านหม้อ กรุงเทพมหานคร เป็นหนังสือเล่มหนากว่า ๒๐๐ หน้า ตีพิมพ์เพื่อแจกเป็นบรรณาการอนุสรณ์แก่ผู้ที่มาเข้าร่วมในงานพระราชทานเพลิงศพของ นาย ต. เง๊กชวน ภายในตัวเล่มนอกจากเนื้อหาที่พึงปรากฏทั่วไปในหนังสืออนุสรณ์ผู้วายชนม์ เช่น ประวัติผู้วายชนม์ คำไว้อาลัย เป็นต้นแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังบรรจุเนื้อหาที่มีคุณค่าในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การแพทย์ ธรรมะ และการดนตรี จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ที่เคยเข้ามาอยู่ในฉากชีวิตหนึ่งของนาย ต. เง๊กชวน โดยหนังสือเล่มนี้มีแกนนำหลักในการจัดทำคือ นายเอก (ประยงค์) ธันวารชร บุตรคนที่ ๔ ของนาย ต. เง๊กชวน หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. เง๊กชวน เล่มนี้ แบ่งออกเป็นส่วนต่าง ๆ ได้แก่

– ส่วนต้น ประกอบไปด้วย คำปรารภ ประวัติของนาย ต. เง๊กชวน เอกสารสำคัญ (จดหมายตราตั้ง จดหมายพระราชทานนามสกุล) และภาพถ่ายในงานศพของนาย ต. เง๊กชวน

– ส่วนของเนื้อหา ซึ่งเป็นส่วนที่เขียนขึ้นโดยญาติสนิทมิตรสหายของนาย ต. เง๊กชวน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของคำไว้อาลัย บทความเชิงความรู้สารคดีต่าง ๆ บทความด้านธรรมะ ด้านดนตรี เป็นต้น โดยมีบุคคลสำคัญที่ได้ร่วมจัดทำในส่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็น นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก, ศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์, ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสนอ อินทรสุขศรี เป็นต้น– ส่วนข้อเขียนพิเศษ เขียนขึ้นโดย นาย ต. เง๊กชวน มีการเกริ่นหัวและคำอธิบายว่า “ชีวิตและผลงานบางส่วน ของนาย ต. ธันวารชร (ต. เง๊กชวน) ที่ท่านได้ประพันธ์ขึ้น นำลงพิมพ์ไว้ในสมุดอนุสรณ์ กระต่าย ๒๕ ปี และจากหนังสือชุมนุมเพลงกระต่ายบางเล่ม” ในส่วนนี้นับเป็นข้อเขียนที่มีความสำคัญ เพราะผู้วายชนม์ คือ นาย ต. เง๊กชวน เป็นผู้บันทึกไว้ด้วยตนเองในขณะที่ยังมีชีวิต จากประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ตนได้ประสบพบเจอ เป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าที่มักไม่ปรากฏในหนังสือประวัติศาสตร์โดยทั่วไป

ในการนี้ ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างเนื้อหาบางส่วนจากหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. เง๊กชวน เล่มนี้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้เห็นถึงคุณประโยชน์และคุณค่าของหนังสือเล่มสำคัญเล่มนี้ โดยเฉพาะในทางดนตรีที่ยังคงมีประเด็นน่าสนใจหลายต่อหลายเรื่องให้นำมาต่อยอด

ชวนอ่านเนื้อหาในเล่ม

เนื้อหาภายในเล่มหลายส่วนได้กล่าวถึงนาย ต. เง๊กชวน ในช่วงเวลาที่ยังมีชีวิต อันมีหลายต่อหลายมุมมอง ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจนั่นคืออุปนิสัยของนาย ต. เง๊กชวน ที่เป็นผู้ที่มีความสนใจและความศรัทธาในการที่ต้องการจะอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมการดนตรีของไทย ดังปรากฏในส่วนหนึ่งของเนื้อหาคำไว้อาลัยของศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ กล่าวว่า

“…ระยะหลังนี้ คุณ ต. เป็นคนธรรมะธรรมโมหมั่นไปฟังเทศน์ฟังธรรมที่วัดต่าง ๆ เสมอ จึงในวันหนึ่งก็โคจรไปพบกับผมเข้าที่วัดเบญจมบพิตร วันนั้นผมเผอิญเอามโหรีเครื่องใหญ่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปช่วยงานเจ้าคุณเจ้าอาวาสท่าน คุณ ต. นั่งฟังอยู่พักหนึ่งก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในความไพเราะของวงมโหรีเป็นอันมาก จึงได้เข้ามาแนะนำตนเองพร้อมทั้งแสดงความประหลาดใจว่าดนตรีอะไรเสียงช่างดังไพเราะจริง ๆ …คุณ ต. หันไปหันมาสักครู่หนึ่งก็เอ่ยปากชวนให้ผมไปอัดแผ่นเสียง บอกว่าดนตรีไพเราะ ๆ อย่างนี้ควรจะต้องอัดไว้ …คุณ ต. ก็มีจดหมายไปย้ำอีกว่าเรื่องที่พูดกันนั้นจะเอาจริงละนะ ผมก็เฉยเสีย คุณ ต. จะเขียนไปอย่างไรผมก็ไม่พูดจาด้วย คุณ ต. ก็เขียนแล้วเขียนอีก ลงท้ายอุตส่าห์ถ่อร่างอันชราของคุณ ต. ไปหาผมถึงบ้าน อ้อนวอนให้ผมไปอัดเสียง …คุณ ต. ตั้งใจอัดแผ่นเสียงเพลงไทยประเภทต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่คนอื่นไม่มีใครเขาค่อยอยากอัดเท่าใดนักดอก ทั้งนี้เพราะเขาคิดรายได้เป็นตัวเงินตัวทองเข้ามาเป็นส่วนใหญ่ ถ้าไม่มีคุณ ต. ผมคิดว่าพวกเราจะหาแผ่นเสียงเพลงไทยฟังได้น้อยเต็มที จึงขอขอบพระคุณ คุณ ต. ไว้ในที่นี้ด้วย…” (ย่อความจากคำไว้อาลัยของศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ในหัวข้อคำไว้อาลัยว่า “ผมไปอัดเสียงกับคุณ ต. เง๊กชวน”)

จะเห็นได้ว่า ข้อความข้างต้นดังกล่าวนั้น แสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่และความตั้งมั่นของ นาย ต. เง๊กชวน ในการที่จะกระทำการใด ๆ ให้ประสบความสำเร็จ ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นผู้ที่มีความเอาใจใส่ต่อศิลปวัฒนธรรมการดนตรีประจำชาติ ที่ต้องการจะบันทึกเสียงดนตรีไทยให้มีการสืบทอดยืนยาวต่อไป

อีกข้อเขียนสำคัญที่ถูกบรรจุอยู่ในอนุสรณ์ผู้วายชนม์เล่มนี้ คือข้อเขียนของนาย ต. เง๊กชวน เอง โดยผู้เขียนได้หยิบนำข้อเขียนหนึ่งที่ชื่อว่า ต. เง๊กชวน ธันวารชร เล่า เรื่อง “กระบอกเสียง” กล่าวถึงสื่อบันทึกเสียงแรกอย่างกระบอกเสียง ประดิษฐกรรมบันทึกเสียงชนิดแรกของโลกโดยโทมัส อัลวา เอดิสัน ที่นาย ต. เง๊กชวน ได้มีประสบการณ์ร่วมในการชมการสาธิตการบรรเลงและการบันทึกเสียง ข้อเขียนดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงความอยากรู้ ช่างสังเกตของผู้เขียน คือนาย ต. เง๊กชวน ได้เป็นอย่างดี ผ่านสำนวนการใช้ภาษาที่เป็นเอกลักษณ์เข้าใจได้ง่าย โดยภายในข้อเขียนได้เล่าตั้งแต่บรรยากาศโดยรอบไปจนถึงรายละเอียดเชิงลึกที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษาทางประวัติศาสตร์ในประเด็นของกระบอกเสียงในประเทศไทย จะขอยกตัวอย่างบางส่วนดังนี้

“…คำว่า ‘กระบอกเสียง’ ที่ข้าพเจ้านำมาเล่าต่อไปนี้ ไม่ใช่กระบอกเสียงของใคร และก็ไม่ใช่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อให้แก่ผู้ใด ‘กระบอกเสียง’ ที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงนี้เป็นวัตถุตัวจริงมีลักษณะเหมือนชื่อ…

…เจ้า ‘กระบอกเสียง’ นี่สามารถส่งเสียงร้องได้ดังเหมือนตัวงิ้วจริง ๆ ทีเดียว ข้าพเจ้าพยายามจะดูให้รู้แจ้งเห็นจริง…

…‘กระบอกเสียง’ แล้วก็พยายามสังเกตดูว่ามีอะไรบ้างคงจำเครื่องอุปกรณ์ได้หลายอย่าง ดังต่อไปนี้ ๑ มีเหล็กขาตั้งมีเป็นขอสำหรับเกี่ยวแขวนท่อทองเหลืองยาวประมาณ ๑ วาเศษ ตอนต้นเรียวเล็กไปติดกับเครื่อง มีหัวกลมเล็ก (เรียกว่าหัวกระโหลก) สำหรับใส่เข็มเพชร ตอนปลายค่อย ๆ บานใหญ่ออกไปเหมือนดอกลำโพง ตัวเครื่องยาวประมาณศอกเศษแบนนอน มีท่อเหล็กกลม ๆ ขนาดโตวัดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓ นิ้ว ขนาดยาวประมาณ ๑ คืบ มีกุญแจไขลาน เจ้าของเครื่องต้องทำงานเอง เมื่อไขลานตึงแล้วก็หยิบกล่องกระดาษกลม ๆ สูงประมาณ ๕-๖ นิ้ว จากหีบสังกะสีสี่เหลี่ยมกว้างยาวประมาณ ๒ ศอก ออกมาเปิดฝากล่องหยิบเอาวัตถุสิ่งหนึ่งสีเหมือนงาช้างรูปร่างกลวงกลมเหมือนกระบอกไม้ไผ่ขนาดกลางที่ตัดยาวประมาณ ๔-๕ นิ้ว มีรอยเป็นเส้นรอบ ๆ ตลอดกระบอกสีงาช้างนั้นเอาไปสวมเข้ากับท่อเหล็กที่เครื่อง ๆ ก็เริ่มหมุนเดิน แล้วเอาหัวที่ติดเข็มเพชรวางลงไปที่เนื้อกระบอกสีงาช้าง ทันใดนั้นเสียงเพลงต่าง ๆ ก็ดังออกไปที่ดอกลำโพง….

…คำว่า ‘กระบอกเสียง’ ซึ่งมีตัวจริงสมชื่อในสมัยกระโน้นได้มาเป็นต้นกำเหนิดของคำว่า ‘กระบอกเสียง’ ในปทานุกรมสมัยใหม่ด้วยประการฉะนี้…” (อ้างจาก อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. ธันวารชร, ๒๕๑๔)

คุณค่าของอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. ธันวารชร เล่มนี้ จึงถือว่ามีคุณค่าสูง ด้วยเป็นการบันทึกข้อเขียนที่หาอ่านได้ยาก และเต็มไปด้วยประเด็นทางดนตรีที่สำคัญมากมาย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจในการศึกษาดนตรีในยุคปัจจุบันต่อไป

ท่านผู้อ่านทุกท่านสามารถเข้าถึงหนังสือ “อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. ธันวารชร” นี้ได้จากคลังข้อมูลดิจิทัลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยใช้คำสำคัญในการค้นหาว่า “ต. เง๊กชวน” หรือ “อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. ธันวารชร บ.ม. ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๑๔” และเช่นเคย ท่านสามารถเข้าถึงเอกสารดังกล่าวผ่านการลงทะเบียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการดำเนินการ

หน้าเว็บไซต์ที่เผยแพร่หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. ธันวารชร
(ที่มา: คลังข้อมูลดิจิทัลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ในฉบับต่อไป บทความชุด มนุษย์/หนังสือ/ดนตรี นี้ จะนำเสนอหนังสือเล่มใดต่อท่านผู้อ่าน โปรดติดตามอ่านตอนต่อไปครับ

เอกสารอ้างอิง

เอก ธันวารชร. (๒๕๑๔). อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาย ต. ธันวารชร. พระนคร: สามมิตร.

จิตร์ กาวี

อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่