MUSIC JOURNAL Volume 30 No.7 March 2025

22 May 2025

สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน ช่วงเดือนมีนาคมนี้ มีเรื่องที่น่ายินดี ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการจัดอันดับในด้านดนตรี (Music) ให้อยู่ในอันดับ ๒๘ ของโลก และอันดับที่ ๔๗ ในสาขาศิลปะการแสดง (Performing Arts) จาก QS World University Ranking ในการจัดอันดับประจำปี ๒๕๖๘

QS World University Ranking เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลก ทั้งในด้านภาพรวมของมหาวิทยาลัยและในด้านของสาขาวิชาเฉพาะ โดยจะจัดเป็นประจำทุกปี การจัดทำ QS World University Ranking เริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๔ ในปัจจุบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ QS ถือว่าได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยข้อมูลอันดับของ QS World University Ranking นั้น เป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนนักศึกษาในการเลือกสถาบันในการสมัครเรียนในสาขาต่าง ๆ ที่เราสนใจ หรือสำหรับตัวสถาบันเอง ข้อมูลอันดับของ QS สามารถบอกให้เรารู้ว่า สถาบันของเราอยู่ตรงไหน และจะพัฒนาไปในทิศทางใดได้บ้าง ซึ่งสำหรับในปีนี้ มหาวิทยาลัยอันดับ ๑ ด้านสาขา Music คือ Royal College of Music ประเทศอังกฤษ

Music Entertainment นำเสนอบทความ “ครูเพลงไทยสากลที่คนลืม” ตอนที่ ๕ ในตอนนี้นำเสนอชีวประวัติและตัวอย่างผลงานเพลงอมตะของครูประสิทธิ์ พยอมยงค์ อีก ๕ บทเพลง ดังนี้ เปียจ๋า เก็บรัก ใครหนอ จูบ และอยู่เพื่อคอยเธอ ในแต่ละบทเพลงนำเสนอข้อมูลความเป็นมาของเพลง เนื้อเพลง โน้ตเพลงและการวิเคราะห์ทางทฤษฎีดนตรี ติดตามได้ในบทความ

Ethnomusicology พาผู้อ่านไปสำรวจกิจกรรมทางวัฒนธรรมนี้ที่มีความสำคัญ ผ่านการจัดปอยหลวงครั้งใหญ่ ของพื้นที่อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน ในงานการแห่ครัวทาน งานฉลองกุฏิ ครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี ที่วัดพระธาตุหัวขัว บรรยากาศของงานและความเป็นมาของงานปอยในพื้นที่ล้านนา ติดตามได้ในบทความ

Classical Guitar นำเสนอบทความเกี่ยวกับนวัตกรรมการสร้างกีตาร์รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “การทำแบบไม้หน้าสองชั้นประกบกัน” หรือแบบดับเบิลท็อป (Double Top) ของทางฝั่งทวีปยุโรป การทำกีตาร์โครงสร้างแบบไม้หน้าสองชั้นมีความเป็นมาอย่างไร และต่างจากแบบใบพัด (Fan Bracing) หรือแบบสเปนดั้งเดิม (Spanish Traditional Bracing) อย่างไร พลิกไปอ่านด้านใน

Music Business ในเดือนนี้ เป็นตอนต่อเนื่องจากบทความวิวัฒนาการในการโปรโมตเพลงของศิลปิน โดยในตอนที่ ๒ นี้ จะพาผู้อ่านไปเรียนรู้ฟังก์ชันต่าง ๆ ของ TikTok ตลอดจนยกตัวอย่างศิลปินที่นำ TikTok เข้ามามีบทบาทในการโปรโมตผลงานจนมีชื่อเสียง และเสนอมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มของ TikTok ในอนาคต

Thai and Oriental Music เป็นตอนต่อเนื่องของลำดับการเรียนเพลงในการเรียนปี่พาทย์ โดยตอนที่ ๑ ได้กล่าวถึงการเรียนจนจบครอบขั้นที่ ๒ (สามารถย้อนอ่านได้จาก Vol. 29 No. 9) ในตอนที่ ๒ นี้จะเป็นรายละเอียดการเรียนเพลงในครอบขั้นที่ ๓ เพื่อเรียนรู้เพลงในชุดโหมโรงกลางวันละคร ผ่านบทเพลงตระบองกัณฑ์ Music: Did you know? พาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับบทเพลงคลาสสิก จากหลากหลายนักประพันธ์ ที่ถ่ายทอดบรรยากาศและพลังของธรรมชาติ ผ่านเทคนิคการประพันธ์ที่หลากหลาย และการนำเสนออย่างสร้างสรรค์