สวัสดีปีใหม่ผู้อ่านเพลงดนตรีทุกท่าน ช่วงวันที่ ๒๖-๒๘ มกราคมที่ผ่านมา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์จัดงาน Thailand International Jazz Conference (TIJC) ปีที่ ๑๕ โดยในปีนี้ได้เชิญนักดนตรีแจ๊สที่มีชื่อเสียงมามากมายจากทั่วโลก ภาพบรรยากาศของงานกับกิจกรรมต่าง ๆ สามารถติดตามได้จาก Cover Story
Music Entertainment นำเสนอบทความ “นักแต่งทำนองคู่บุญผู้เขียนคำร้อง” ตอนที่ ๗ เป็นบทความต่อเนื่องของนักแต่งคู่บุญ ครูชาลี อินทรวิจิตร และครูสมาน กาญจนะผลิน ในตอนนี้จะกล่าวถึงผลงานของอาจารย์ทั้งสองท่านอีก ๙ บทเพลง ดังนี้ ทุ่งรวงทอง เธออยู่ไหน สาวนครชัยศรี ไม่อยากให้โลกนี้มีความรัก รอยไถ หยาดฝนแรก ปล่อยฉันไป โพระดก และลาก่อนสำหรับวันนี้ เนื้อหาบทเพลง บทวิเคราะห์ และเรื่องราวเบื้องหลังบทเพลงต่าง ๆ ติดตามจากในบทความ
Thai and Oriental Music นำเสนอชุดบทความ สังคีตลักษณ์วิเคราะห์เพลงโหมโรงกลางวัน โดยในเดือนนี้นำเสนอเป็นตอนที่ ๑๐ เกี่ยวกับเพลงโล้ โดยเพลงโล้เป็นเพลงลำดับ ๑๑ เพลงโหมโรงกลางวันละคร ทำต่อจากเพลงใช้เรือ รูปแบบสำหรับการเข้าทำนองเพลงโล้ติดตามต่อจากในบทความ
Classical Guitar พาผู้อ่านมาทำความรู้จักกับสายกีตาร์คลาสสิก ว่ามีกี่ประเภท และวัสดุของการผลิตสายกีตาร์คลาสสิกนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งการเลือกสายกีตาร์ให้เข้ากับตัวกีตาร์และวัตถุประสงค์ของผู้เล่นก็จะสามารถส่งเสริมให้ผู้เล่นผลิตเสียงที่ตรงตามความต้องการได้
Performance Experience นำเสนอบทวิเคราะห์ผ่านประสบการณ์การแสดงของอาจารย์ Shyen Lee ในบทเพลง “Oriri ex Cinere” ประพันธ์โดย Zechariah Goh ที่งาน XIX World Saxophone Congress 2023 บทประพันธ์นี้ประพันธ์สำหรับเครื่อง Alto Saxophone กับ Piano
Music Composition พาผู้อ่านมารู้จักกับบทเพลง “Moments in Thai Nature for String Quartet” ประพันธ์โดย อาจารย์ Thomas Hyuk Cha ผลงานนี้ได้ออกแสดงเป็นครั้งแรกของโลกในงาน Thailand International Composition Festival เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว แรงบันดาลใจและที่มาของเพลงนี้ติดตามได้จากในบทความ Music: Did you know? นำเสนอเกร็ดความรู้เกี่ยวกับนักประพันธ์หญิงชาวฝรั่งเศสที่ถูกลืม Augusta Holmès โดยเธอมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาเดียวกับ Clara Schumann และ Fanny Mendelssohn