การบรรยายประกอบการแสดงเดี่ยว (Lecture Recital)

12 Apr 2022

*** หมายเหตุ บทความนี้เหมาะสำหรับการสร้างแรงบันดาลใจแก่น้อง ๆ ที่สนใจเรียนต่อในสาขาดนตรีศึกษาและการสอน

ในทุก ๆ ปีการศึกษา ขณะที่การเรียนดนตรีในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กำลังเข้าสู่ช่วงปลายภาคเรียนที่ 2  นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 ของสาขาดนตรีศึกษาและการสอนกำลังทำงานสำคัญเพื่อเตรียมจัดการแสดงผลงานของตัวเองที่เรียกว่า การบรรยายประกอบการแสดงเดี่ยว (Lecture Recital) เป็นโครงงานที่ใช้เวลาในการเตรียมตัวนานกว่าการแสดงดนตรีปกติที่ผ่านมา เพราะนักศึกษาต้องกำหนดหัวข้อที่สนใจในการบรรยายและแสดงดนตรีด้วยเครื่องมือเอกของตนเอง ทำการค้นคว้าหาข้อมูลจากเอกสารวิชาการ สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ นำมาเรียบเรียงเขียนเป็นรายงานสรุปเนื้อหา ฝึกพูดบรรยายและทำสื่อประกอบการบรรยายด้วย ทั้งหมดนี้เพื่อนำมาจัดการแสดงผลงานในเวลาประมาณ 50 นาที

ปีที่ผ่าน ๆ มา นักศึกษาที่ทำโครงงานนี้สำเร็จลุล่วงไป รู้สึกถึงความภูมิใจ เข้าใจการฝึกฝนและเล่นดนตรีอย่างลึกซึ้งมากขึ้น มีประสบการณ์ที่จะเริ่มต้นทำงานวิชาการควบคู่ไปกับการแสดงดนตรี สำหรับปีการศึกษานี้มีนักศึกษาที่เตรียมงานพร้อมแล้วมาเล่าถึงประสบการณ์ของตนเองที่น่าสนใจ ดังนี้

“หัวข้อที่บรรยายคือ ประวัติครูไชยยะ ทางมีศรี และแสดงระนาด เพลงทะเเย สามชั้น เพลงไหว้ครูหุ่นกระบอก เพลงกระเร็งรำพัน การแสดงดนตรีครั้งนี้ต่างไปจากที่ผ่านมามาก ๆ ตอนแรกรู้สึกกลัว ไม่เคยทำงานจริงจังขนาดนี้มาก่อน ได้สัมภาษณ์ครูหลายครั้ง ได้ศึกษากระบวนการเรียนรู้และการถ่ายทอดของครู รู้สึกเหมือนทำงานวิจัยเล็ก ๆ ที่ผ่าน ๆ มาเรียนด้วยการต่อเพลงไปเรื่อย ๆ ฝึกได้ เล่นได้ตามที่ครูสอน แต่งานนี้ทำให้เล่นดนตรีอย่างเข้าใจในบทเพลงจริง ๆ ต่างไปจากการเล่นดนตรีแบบเดิมมาก ๆ จากสถานการณ์โควิด เลยต้องทำเป็นงานบันทึกวีดิโอ ทำเสร็จแล้วค่ะ ติดตามดูได้ที่  https://youtu.be/0cDYWk1iohs ”

นางสาวญาณิศา วรรณวัตร์ (ปรายฟ้า) เครื่องดนตรี ระนาดเอก

“รู้ว่าต้องทำงานงานนนี้ตั้งแต่ก่อนสมัครเข้าเรียนปี 1 ถามข้อมูลมาจากรุ่นพี่ ตอนนั้นคิดว่าไม่ยาก สบาย ๆ แต่พอถึงเวลาทำโครงงานนี้จริง ๆ เห็นเลยว่าต้องทำงานเยอะมาก สนุกดี อ่านข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ได้เตรียมตัวมาตั้งแต่เทอม 1 เลือกหัวข้อ Jazz-inspired in 20th century classical piano music: A study of four selected composers เล่นเพลงของ George Gershwin,  Aaron Copland, Nikolai Kapustin, William Bolcom  ได้ฝึกทำงานเป็นขั้นเป็นตอน รู้สึกเล่นดนตรีอย่างเข้าใจมากขึ้น จะแสดงช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนะคะ”

นางสาวพชรมน เกตุคำ (มายด์) เครื่องดนตรี เปียโน

“เตรียมตัวค้นคว้าข้อมูลตั้งแต่เทอม 1 ใช้วิธีหาข้อมูลจาก database ที่มหาวิทยาลัยมีให้ใช้ เลือกหัวข้อ The selected piano repertoires of Women composers – Sounds from Women แล้วก็เลือกเล่นเพลงของ Clara Schumann, Fanny Mendelssohn, Emilie Mayer, Lili Boulanger  สนใจหัวข้อนี้เพราะว่าเคยไปฟังคอนเสิร์ตเปียโน เขาเล่นเพลงของ Clara Schumann รู้สึกชอบ เพลงเพราะมาก เลยเริ่มศึกษาเพลงของผู้ประพันธ์เพลงที่เป็นผู้หญิง ค้นคว้าเยอะ ต้องกลั่นกรองข้อมูลที่น่าเชื่อถือ คล้ายการทำงานสารนิพนธ์ของปริญญาโท ได้ฝึกทำงานวิชาการจริงจังมากขึ้น คิดว่าจะต่อยอดไปทำงานวิจัยในอนาคต งานนี้ทำให้เล่นเพลงได้อย่างเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้นกว่าเดิมที่ผ่าน ๆ มา น่าจะได้แสดงตอนต้นเดือนพฤษภาคมค่ะ”

นางสาววชิราภรณ์ ตันติรังสี (เดียร์) เครื่องดนตรี เปียโน

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์บ้างสำหรับน้อง ๆ ที่สนใจจริงจัง มุ่งมั่นจะเรียนต่อในสาขาดนตรีศึกษาและการสอน ที่น่าสนใจอีกก็คือสาขานี้ยังมีเรื่องสนุก ๆ ให้ทำอีกหลายอย่างเลยนะครับ

Surat Prapatrangsee

Music Education Department