๖ คีตกวี กับผลงานที่มากกว่าดนตรี

23 Feb 2023

Cage: คีตกวีนักล่าเห็ด

John Milton Cage Jr.
(๕ กันยายน ๑๙๑๒ – ๑๒ สิงหาคม ๑๙๙๒)
คีตกวีชาวอเมริกันผู้ทรงอิทธิพลแห่งศตวรรษที่ ๒๐

เขาเป็นที่รู้จักจากผลงานเพลงแนวเอว็องต์-การ์ดที่ชื่อว่า 4’33” ซึ่งพาเราไปสำรวจความเงียบ เพื่อที่จะสื่อสารว่า โลกเบี้ยว ๆ ใบนี้ ไม่มีวันที่จะไร้ซึ่งเสียงดนตรี ขณะเดียวกันเขาก็ศึกษาและเชี่ยวชาญในศาสตร์แขนงอื่น จนได้รับการยอมรับว่าเป็นจิตรกรและนักธรรมชาติวิทยาอีกด้วย

เช่นเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๔ สมาคม Horticultural Society ในมหานครนิวยอร์ก ได้จัดนิทรรศการศิลปะขึ้น โดยมีไฮไลต์อยู่ที่ผลงานภาพเขียนจากหนังสือ Mushroom Book (1971) ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าสะท้อนความคลั่งไคล้ที่มีต่อ “เห็ด” ของเคจ ถึงขั้นออกรายการเกมโชว์ของอิตาลีช่วงทศวรรษที่ ๑๙๖๐ เพื่อร่วมตอบคำถามเกี่ยวกับเห็ดมาแล้ว

เขาใช้วัสดุจากธรรมชาติ อย่างก้อนหินในแม่น้ำ ควัน และพืชสมุนไพร ในการสร้างสรรค์งาน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานเขียนและการศึกษาเรื่องเห็ดของ Henry David Thoreau (1817-1862) นักเขียน นักปรัชญา และนักธรรมชาติวิทยา ผู้เป็นเจ้าของผลงานอมตะอย่าง “Walden”

เขายังเป็นชาวพุทธผู้อุทิศตน นักปราชญ์ และนักเขียน เขาเขียนเรื่องสั้นอย่างบันทึกประจำวันกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่พบเจอในชีวิตแต่ละวัน และงานเขียนของเขาทำให้นึกถึงกลอนไฮกุ (Haiku) ข้อเขียนของเขามีทั้งเรื่องแนวเหนือจริง สนุกสนาน เรื่องสัพเพเหระ โศกนาฏกรรม เรื่องที่เข้าใจยาก เรื่องตื้นเขิน หรือแม้แต่เรื่องลึกซึ้งที่สะท้อนสติปัญญาอันเฉียบแหลม

เคจ ขณะออกเก็บเห็ดที่ริมแม่น้ำในนิวยอร์ก

ชีวิตและอาชีพ

“ผมแปลกใจมากเมื่อเข้าไปในห้องนอนของแม่ในบ้านพักคนชรา แล้วเห็นว่าทีวีในห้องกำลังเปิดอยู่ เป็นรายการที่วัยรุ่นมาเต้นร็อกแอนด์โรล ผมเลยถามแม่ว่า แม่มาชอบเพลงสมัยใหม่ได้ไง ท่านตอบกลับมาว่า ‘เรื่องดนตรีน่ะ ฉันไม่เรื่องมากหรอกนะ’ มันเหมือนทำให้ผมตื่นขึ้น แล้วท่านยังเสริมอีกว่า ‘ลูกเองก็ไม่จุกจิกกับเรื่องดนตรีเหมือนกัน’” นี่คือบันทึกที่เคจเขียนไว้เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๖๖

เขาเกิดเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๑๒ และเสียชีวิตในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ ที่ลอสแอนเจลิส เขามีชีวิตตลอดช่วงศตวรรษที่ ๒๐ และได้สร้างร่องรอยที่น่าสนใจไว้มากมาย – เมื่อเขาเป็นเด็ก ไม่เคยคิดฝันว่าโตขึ้นมาจะเป็นคีตกวีที่มีชื่อเสียง เขาลาออกจากวิทยาลัยเพราะไม่อยากจะอ่านหนังสือเหมือนที่คนอื่นอ่านกัน

เขาเริ่มต้นอาชีพนักเขียนและเดินทางไปยุโรปเพื่อแสวงหาแรงบันดาลใจ กระทั่งหลงใหลในสถาปัตยกรรมและเริ่มเรียนอยู่ระยะหนึ่ง แต่ก็ล้มเลิกไป เพราะรู้สึกว่าไม่มีความกระตือรือร้นมากพอที่จะลงมือทำงานด้านสถาปัตยกรรมไปตลอดชีวิต แล้วหันไปวาดภาพและองค์ประกอบภาพแทน

จากนั้นเขาก็เดินทางกลับแคลิฟอร์เนียและตระหนักได้ว่าอยากจะอุทิศชีวิตให้ดนตรี เขาศึกษางานของ Arnold Schoenberg ก่อนที่จะเดินตามเส้นทางดนตรีของตัวเอง ซึ่งเขาสร้างสรรค์งานดนตรีร่วมกับงานเขียนและศิลปะแขนงอื่น

จอห์น เคจ และเห็ดของเขา

“คุณเคจ เคยบอกว่า ไม่มีอะไรที่เหมือนกับเห็ดต้นเล็ก ๆ พิษของพวกมันส่งผลต่อคนเราอย่างเที่ยงตรงเสมอ” เคจ บันทึกไว้เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๕๙

เขาเริ่มสนใจเห็ดเมื่อช่วงอายุ ๒๐ ต้น ๆ โดยในปี ค.ศ. ๑๙๓๔ ที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนั้น เขายังไม่มีชื่อเสียงและแทบจะไม่มีเงินเลย จึงตัดสินใจย้ายจากลอสแอนเจลิสบ้านเกิด ไปยังเมือง Carmel-by-the-Sea ที่อยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อทำงานในร้านอาหารที่ได้ค่าจ้างเพียงวันละ ๑ ดอลลาร์ ด้วยความหิวทำให้เขาเริ่มเดินหาของที่พอจะกินได้รอบ ๆ เพิงที่พัก ซึ่งก็มีเห็ดขึ้นอยู่มากมายจนน่าเหลือเชื่อ โดยเขาได้อ่านหนังสือในห้องสมุดประชาชนเพื่อให้รู้ว่าเห็ดแบบไหนบ้างที่กินได้และไม่เป็นอันตราย – เขากินแค่เห็ดเป็นเวลานับสัปดาห์ ก่อนจะพบว่าร่างกายตัวเองอ่อนแอแค่ไหนเมื่อต้องเดินทางไปอีกฟากของเมือง ขณะที่อีกแหล่งข้อมูลระบุว่า ตอนนั้นเขาได้รับพิษจากเห็ดและมีอาการรุนแรง จนเป็นเหตุที่ทำให้เขาตัดสินใจว่าจะศึกษาทุกอย่างเกี่ยวกับเห็ด

มีเรื่องเล่าว่า เคจได้อธิบายว่าเขารักพฤกษศาสตร์ ในฐานะผืนดินที่ปราศจากความอิจฉาริษยาและความรู้สึกเห็นแก่ตัวที่รบกวนงานศิลปะ ซึ่งมักลงเอยด้วยการโต้เถียงกันระหว่างนักเห็ดราที่มีชื่อเสียง

ดนตรี ความเชื่อ และเห็ด

ช่วงปลายทศวรรษที่ ๑๙๔๐ เขาได้ฟังการบรรยายของนักศาสนศาสตร์ชาวญี่ปุ่นนามว่า D.T. Suzuki เกี่ยวกับศาสนาพุทธนิกายเซน จากนั้นปี ค.ศ. ๑๙๕๔ เขาย้ายไปยังนิวยอร์กแถบบริเวณแม่น้ำฮัดสันซึ่งเป็นที่ตั้งของสหกรณ์ชุมชน

“เมื่อผมจากนิวยอร์กมา มันเหมือนกับว่าผมได้ค้นพบบางอย่าง – เห็ดทำให้ผมเข้าใจ ดร.ซูซูกิ มากขึ้น ที่ชุมชนในนิวยอร์กที่ผมอาศัยอยู่นั้นมีเห็ดหลากหลายสายพันธุ์ ยิ่งคุณรู้จักพวกมันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งยากในการระบุตัวตนของพวกมัน เหมือนกับว่าเห็ดแต่ละดอก แต่ละต้น มีความเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกันเลย ดังนั้น การจะบอกว่าคุณรู้จักเห็ดดีก็ดูไร้ประโยชน์ทีเดียว”

สำหรับเคจแล้ว การล่าเห็ดเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิสูงมาก ต้องปรับประสาทสัมผัสให้เข้ากับธรรมชาติรอบตัว และยังมีประสบการณ์ที่เกี่ยวกับเพลง 4’33” (1952) ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานชื่อดังของเขาอีกด้วย

“ผมใช้เวลาหลายชั่วโมงในป่ากับการแสดงเพลงไร้เสียง” เคจกล่าว ก่อนจะเสริมว่ามีการแสดงอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาผ่านท่อนแรกมาได้พร้อมกับการระบุชนิดของเห็ดได้สำเร็จ ส่วนท่อนที่สองก็ค่อนข้างน่าทึ่งกับเสียงของกวางตัวผู้และตัวเมียที่กระโจนขึ้นไปบนแท่นหินสูงสิบฟุต ขณะที่ท่อนสามจะเป็นการกลับไปซ้ำกับธีมของท่อนแรก ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ความรู้สึกที่มีต่อรูปแบบการแต่งเพลงแบบ A-B-A ของนักดนตรีเยอรมันเปลี่ยนแปลงไป

เกมโชว์ในอิตาลี

ความรู้ด้านเห็ดของเขากลายเป็นตำนาน เขาได้ไปบรรยายตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เกี่ยวกับการจำแนกเห็ด และในปี ค.ศ. ๑๙๕๙ เคจได้ไปปรากฏตัวในรายการวาไรตีชื่อดังของอิตาลีอย่าง Lascia o Raddoppia? ในช่วงที่เกี่ยวกับความชำนาญในการจำแนกแยกประเภทของเห็ดที่จัดขึ้นมาโดยเฉพาะ

ตอนนั้นเคจเดินทางไปที่มิลาน ในฐานะแขกของ Luciano Berio เพื่อนนักแต่งเพลงแนวเอว็องต์-การ์ดชื่อดังที่กำลังมีคอนเสิร์ต โดยช่วงนั้น Berio ได้ทำเพลงให้ Radiotelevisione Italiana (RAI) หรือสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติอิตาลี และเพื่อนกลุ่มนี้เองที่อยากให้เคจไปออกรายการ

ในการออกอากาศตอนแรก เขาตอบคำถามเรื่องเห็ดถูกต้องทั้งหมดและผ่านเข้ารอบสองอย่างง่ายดาย – โดยสื่อรายงานว่า เคจเป็น “นักแต่งเพลงที่ทันสมัยและล้ำยุค” เขานั่งข้างเปียโนหลังพิเศษที่ตกแต่งด้วยตะปู สกรู และยางยืด และบรรเลงเพลงอันแสนจะแปลกหูชื่อ ‘Amores’ ซึ่งฟังดูคล้ายกับงานแห่ศพ

สัปดาห์ถัดมา เคจออกรายการอีกครั้งและตอบคำถามทั้งหมดถูกต้องในครั้งเดียว – สื่อเขียนถึงเขาว่าเป็น “หนุ่มอเมริกันขายาวกับรอยยิ้มกว้าง” และกลายเป็นคนดังของอิตาลีในชั่วข้ามคืน กับรายการที่คิดขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อเขาโดยเฉพาะ อย่างตอนหนึ่งที่เขาใช้กาต้มน้ำ อ่างใส่น้ำ เครื่องปั่น ปลาของเล่น ประทัด บัวรดน้ำ ขวดใส่น้ำ พวงกุหลาบ นกหวีด และวิทยุสองเครื่อง ในการสร้างเพลงใหม่ขึ้นมา จนสร้างความตกตะลึงให้ผู้ชมอย่างมาก

กว่าจะถึงรอบไฟนอลก็ใช้เวลาประมาณ ๕ สัปดาห์ โดยผู้ที่ชนะเลิศจะได้เป็นเจ้าของเงินรางวัลราว ๘,๐๐๐ ดอลลาร์ คำถามมีอยู่ว่า ให้เคจบอกชื่อสกุลของ Agaricus สปอร์สีขาวที่อยู่ตรงหน้าทั้ง ๒๔ ตัวอย่าง – ภายใต้แสงไฟในสตูดิโอที่ทำเอาเขาเหงื่อตกนั้น เคจเรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมได้กึกก้องสตูดิโอด้วยคำตอบที่ถูกต้องทั้งหมด ทั้งยังตอบแบบเรียงตามลำดับตัวอักษรอีกด้วย ส่วนเงินรางวัลก็นำไปซื้อเปียโนหลังใหม่ให้ตัวเอง กับรถตู้รถโฟล์กสวาเกนให้ Merce Cunningham พาร์ตเนอร์ของเขาที่กำลังเดินสายทัวร์ทั่วสหรัฐ

นักดนตรีกับหนังสือว่าด้วยเห็ด

ชัยชนะจากอิตาลีช่วยยืนยันว่าเคจเชี่ยวชาญและมีความรู้ด้านเห็ดมากเพียงใด

และในปี ค.ศ. ๑๙๗๒ ยังออกหนังสือเกี่ยวกับเห็ดชื่อว่า The Mushroom Book ร่วมกับ Alexander H. Smith นักเห็ดวิทยา และมี Lois Long เป็นผู้วาดภาพประกอบให้ ซึ่งในหนังสือยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย บทกวี และภาพลายเส้นของเคจร่วมอยู่ด้วย

ภาพประกอบในหนังสือ Mushroom Book ผลงานลายเส้นโดย Lois Long
ภาพถ่ายโดย Roger Bergner (1987) ที่เคจสะสมไว้


นอกจากนี้ ยังมีหนังสืออีกเล่มคือ John Cage: A Mycological Foray ที่ช่วยยืนยันว่าเคจมีความเชี่ยวชาญด้านเห็ดอย่างแท้จริง เพราะได้รวบรวมบทความ บันทึก หรือแม้แต่ข้อความที่คัดมาจากไดอารีส่วนตัวที่เกี่ยวกับการตามล่าเห็ดในป่าช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงมารวมไว้ในเล่มเดียว

เรื่องราวของเคจ เต็มไปด้วยการเก็บเห็ดและการกินเห็ด มีทั้งเรื่องที่สร้างเสียงหัวเราะและเรื่องที่สร้างความหงุดหงิดใจ เช่นครั้งหนึ่งที่เขาอยู่งานปาร์ตี้และพูดคุยอยู่กับเพื่อน ๆ ในวงการนักเห็ดวิทยาผู้มีชื่อเสียง และเขาก็ประกาศว่าเขารักพฤกษศาสตร์ เพราะเป็นสาขาที่ปราศจากความเกลียดชังและอิจฉาริษยา แต่สุดท้ายแล้วเรื่องราวก็ลงเอยตรงที่ว่า บรรดาเพื่อนฝูงในแวดวงนักพฤกษศาสตร์ก็มีที่ไม่ชอบขี้หน้า ไม่ต่างกับแวดวงอื่น ๆ (ฮา)

อ้างอิง

https://www.thecollector.com/john-cage-writing-stories-on-silence/
https://artreview.com/why-john-cage-was-mad-about-mushrooms/
https://www.active-cultures.org/john_cage_mushroom_hunter.html
https://galeriemagazine.com/john-cage-mushroom-foraging-book
https://wonderground.press/culture/john-cage/

Krittaya Chuamwarasart

นักข่าวอิสระ