Cage: คีตกวีนักล่าเห็ด

John Milton Cage Jr.
(๕ กันยายน ๑๙๑๒ – ๑๒ สิงหาคม ๑๙๙๒)
คีตกวีชาวอเมริกันผู้ทรงอิทธิพลแห่งศตวรรษที่ ๒๐
เขาเป็นที่รู้จักจากผลงานเพลงแนวเอว็องต์-การ์ดที่ชื่อว่า 4’33” ซึ่งพาเราไปสำรวจความเงียบ เพื่อที่จะสื่อสารว่า โลกเบี้ยว ๆ ใบนี้ ไม่มีวันที่จะไร้ซึ่งเสียงดนตรี ขณะเดียวกันเขาก็ศึกษาและเชี่ยวชาญในศาสตร์แขนงอื่น จนได้รับการยอมรับว่าเป็นจิตรกรและนักธรรมชาติวิทยาอีกด้วย
เช่นเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๔ สมาคม Horticultural Society ในมหานครนิวยอร์ก ได้จัดนิทรรศการศิลปะขึ้น โดยมีไฮไลต์อยู่ที่ผลงานภาพเขียนจากหนังสือ Mushroom Book (1971) ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าสะท้อนความคลั่งไคล้ที่มีต่อ “เห็ด” ของเคจ ถึงขั้นออกรายการเกมโชว์ของอิตาลีช่วงทศวรรษที่ ๑๙๖๐ เพื่อร่วมตอบคำถามเกี่ยวกับเห็ดมาแล้ว
เขาใช้วัสดุจากธรรมชาติ อย่างก้อนหินในแม่น้ำ ควัน และพืชสมุนไพร ในการสร้างสรรค์งาน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานเขียนและการศึกษาเรื่องเห็ดของ Henry David Thoreau (1817-1862) นักเขียน นักปรัชญา และนักธรรมชาติวิทยา ผู้เป็นเจ้าของผลงานอมตะอย่าง “Walden”
เขายังเป็นชาวพุทธผู้อุทิศตน นักปราชญ์ และนักเขียน เขาเขียนเรื่องสั้นอย่างบันทึกประจำวันกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่พบเจอในชีวิตแต่ละวัน และงานเขียนของเขาทำให้นึกถึงกลอนไฮกุ (Haiku) ข้อเขียนของเขามีทั้งเรื่องแนวเหนือจริง สนุกสนาน เรื่องสัพเพเหระ โศกนาฏกรรม เรื่องที่เข้าใจยาก เรื่องตื้นเขิน หรือแม้แต่เรื่องลึกซึ้งที่สะท้อนสติปัญญาอันเฉียบแหลม

ชีวิตและอาชีพ
“ผมแปลกใจมากเมื่อเข้าไปในห้องนอนของแม่ในบ้านพักคนชรา แล้วเห็นว่าทีวีในห้องกำลังเปิดอยู่ เป็นรายการที่วัยรุ่นมาเต้นร็อกแอนด์โรล ผมเลยถามแม่ว่า แม่มาชอบเพลงสมัยใหม่ได้ไง ท่านตอบกลับมาว่า ‘เรื่องดนตรีน่ะ ฉันไม่เรื่องมากหรอกนะ’ มันเหมือนทำให้ผมตื่นขึ้น แล้วท่านยังเสริมอีกว่า ‘ลูกเองก็ไม่จุกจิกกับเรื่องดนตรีเหมือนกัน’” นี่คือบันทึกที่เคจเขียนไว้เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๖๖
เขาเกิดเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๑๒ และเสียชีวิตในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ ที่ลอสแอนเจลิส เขามีชีวิตตลอดช่วงศตวรรษที่ ๒๐ และได้สร้างร่องรอยที่น่าสนใจไว้มากมาย – เมื่อเขาเป็นเด็ก ไม่เคยคิดฝันว่าโตขึ้นมาจะเป็นคีตกวีที่มีชื่อเสียง เขาลาออกจากวิทยาลัยเพราะไม่อยากจะอ่านหนังสือเหมือนที่คนอื่นอ่านกัน
เขาเริ่มต้นอาชีพนักเขียนและเดินทางไปยุโรปเพื่อแสวงหาแรงบันดาลใจ กระทั่งหลงใหลในสถาปัตยกรรมและเริ่มเรียนอยู่ระยะหนึ่ง แต่ก็ล้มเลิกไป เพราะรู้สึกว่าไม่มีความกระตือรือร้นมากพอที่จะลงมือทำงานด้านสถาปัตยกรรมไปตลอดชีวิต แล้วหันไปวาดภาพและองค์ประกอบภาพแทน
จากนั้นเขาก็เดินทางกลับแคลิฟอร์เนียและตระหนักได้ว่าอยากจะอุทิศชีวิตให้ดนตรี เขาศึกษางานของ Arnold Schoenberg ก่อนที่จะเดินตามเส้นทางดนตรีของตัวเอง ซึ่งเขาสร้างสรรค์งานดนตรีร่วมกับงานเขียนและศิลปะแขนงอื่น
จอห์น เคจ และเห็ดของเขา
“คุณเคจ เคยบอกว่า ไม่มีอะไรที่เหมือนกับเห็ดต้นเล็ก ๆ พิษของพวกมันส่งผลต่อคนเราอย่างเที่ยงตรงเสมอ” เคจ บันทึกไว้เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๕๙
เขาเริ่มสนใจเห็ดเมื่อช่วงอายุ ๒๐ ต้น ๆ โดยในปี ค.ศ. ๑๙๓๔ ที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนั้น เขายังไม่มีชื่อเสียงและแทบจะไม่มีเงินเลย จึงตัดสินใจย้ายจากลอสแอนเจลิสบ้านเกิด ไปยังเมือง Carmel-by-the-Sea ที่อยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อทำงานในร้านอาหารที่ได้ค่าจ้างเพียงวันละ ๑ ดอลลาร์ ด้วยความหิวทำให้เขาเริ่มเดินหาของที่พอจะกินได้รอบ ๆ เพิงที่พัก ซึ่งก็มีเห็ดขึ้นอยู่มากมายจนน่าเหลือเชื่อ โดยเขาได้อ่านหนังสือในห้องสมุดประชาชนเพื่อให้รู้ว่าเห็ดแบบไหนบ้างที่กินได้และไม่เป็นอันตราย – เขากินแค่เห็ดเป็นเวลานับสัปดาห์ ก่อนจะพบว่าร่างกายตัวเองอ่อนแอแค่ไหนเมื่อต้องเดินทางไปอีกฟากของเมือง ขณะที่อีกแหล่งข้อมูลระบุว่า ตอนนั้นเขาได้รับพิษจากเห็ดและมีอาการรุนแรง จนเป็นเหตุที่ทำให้เขาตัดสินใจว่าจะศึกษาทุกอย่างเกี่ยวกับเห็ด
มีเรื่องเล่าว่า เคจได้อธิบายว่าเขารักพฤกษศาสตร์ ในฐานะผืนดินที่ปราศจากความอิจฉาริษยาและความรู้สึกเห็นแก่ตัวที่รบกวนงานศิลปะ ซึ่งมักลงเอยด้วยการโต้เถียงกันระหว่างนักเห็ดราที่มีชื่อเสียง
ดนตรี ความเชื่อ และเห็ด
ช่วงปลายทศวรรษที่ ๑๙๔๐ เขาได้ฟังการบรรยายของนักศาสนศาสตร์ชาวญี่ปุ่นนามว่า D.T. Suzuki เกี่ยวกับศาสนาพุทธนิกายเซน จากนั้นปี ค.ศ. ๑๙๕๔ เขาย้ายไปยังนิวยอร์กแถบบริเวณแม่น้ำฮัดสันซึ่งเป็นที่ตั้งของสหกรณ์ชุมชน
“เมื่อผมจากนิวยอร์กมา มันเหมือนกับว่าผมได้ค้นพบบางอย่าง – เห็ดทำให้ผมเข้าใจ ดร.ซูซูกิ มากขึ้น ที่ชุมชนในนิวยอร์กที่ผมอาศัยอยู่นั้นมีเห็ดหลากหลายสายพันธุ์ ยิ่งคุณรู้จักพวกมันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งยากในการระบุตัวตนของพวกมัน เหมือนกับว่าเห็ดแต่ละดอก แต่ละต้น มีความเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกันเลย ดังนั้น การจะบอกว่าคุณรู้จักเห็ดดีก็ดูไร้ประโยชน์ทีเดียว”
สำหรับเคจแล้ว การล่าเห็ดเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิสูงมาก ต้องปรับประสาทสัมผัสให้เข้ากับธรรมชาติรอบตัว และยังมีประสบการณ์ที่เกี่ยวกับเพลง 4’33” (1952) ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานชื่อดังของเขาอีกด้วย
“ผมใช้เวลาหลายชั่วโมงในป่ากับการแสดงเพลงไร้เสียง” เคจกล่าว ก่อนจะเสริมว่ามีการแสดงอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาผ่านท่อนแรกมาได้พร้อมกับการระบุชนิดของเห็ดได้สำเร็จ ส่วนท่อนที่สองก็ค่อนข้างน่าทึ่งกับเสียงของกวางตัวผู้และตัวเมียที่กระโจนขึ้นไปบนแท่นหินสูงสิบฟุต ขณะที่ท่อนสามจะเป็นการกลับไปซ้ำกับธีมของท่อนแรก ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ความรู้สึกที่มีต่อรูปแบบการแต่งเพลงแบบ A-B-A ของนักดนตรีเยอรมันเปลี่ยนแปลงไป

เกมโชว์ในอิตาลี
ความรู้ด้านเห็ดของเขากลายเป็นตำนาน เขาได้ไปบรรยายตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เกี่ยวกับการจำแนกเห็ด และในปี ค.ศ. ๑๙๕๙ เคจได้ไปปรากฏตัวในรายการวาไรตีชื่อดังของอิตาลีอย่าง Lascia o Raddoppia? ในช่วงที่เกี่ยวกับความชำนาญในการจำแนกแยกประเภทของเห็ดที่จัดขึ้นมาโดยเฉพาะ
ตอนนั้นเคจเดินทางไปที่มิลาน ในฐานะแขกของ Luciano Berio เพื่อนนักแต่งเพลงแนวเอว็องต์-การ์ดชื่อดังที่กำลังมีคอนเสิร์ต โดยช่วงนั้น Berio ได้ทำเพลงให้ Radiotelevisione Italiana (RAI) หรือสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติอิตาลี และเพื่อนกลุ่มนี้เองที่อยากให้เคจไปออกรายการ
ในการออกอากาศตอนแรก เขาตอบคำถามเรื่องเห็ดถูกต้องทั้งหมดและผ่านเข้ารอบสองอย่างง่ายดาย – โดยสื่อรายงานว่า เคจเป็น “นักแต่งเพลงที่ทันสมัยและล้ำยุค” เขานั่งข้างเปียโนหลังพิเศษที่ตกแต่งด้วยตะปู สกรู และยางยืด และบรรเลงเพลงอันแสนจะแปลกหูชื่อ ‘Amores’ ซึ่งฟังดูคล้ายกับงานแห่ศพ
สัปดาห์ถัดมา เคจออกรายการอีกครั้งและตอบคำถามทั้งหมดถูกต้องในครั้งเดียว – สื่อเขียนถึงเขาว่าเป็น “หนุ่มอเมริกันขายาวกับรอยยิ้มกว้าง” และกลายเป็นคนดังของอิตาลีในชั่วข้ามคืน กับรายการที่คิดขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อเขาโดยเฉพาะ อย่างตอนหนึ่งที่เขาใช้กาต้มน้ำ อ่างใส่น้ำ เครื่องปั่น ปลาของเล่น ประทัด บัวรดน้ำ ขวดใส่น้ำ พวงกุหลาบ นกหวีด และวิทยุสองเครื่อง ในการสร้างเพลงใหม่ขึ้นมา จนสร้างความตกตะลึงให้ผู้ชมอย่างมาก
กว่าจะถึงรอบไฟนอลก็ใช้เวลาประมาณ ๕ สัปดาห์ โดยผู้ที่ชนะเลิศจะได้เป็นเจ้าของเงินรางวัลราว ๘,๐๐๐ ดอลลาร์ คำถามมีอยู่ว่า ให้เคจบอกชื่อสกุลของ Agaricus สปอร์สีขาวที่อยู่ตรงหน้าทั้ง ๒๔ ตัวอย่าง – ภายใต้แสงไฟในสตูดิโอที่ทำเอาเขาเหงื่อตกนั้น เคจเรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมได้กึกก้องสตูดิโอด้วยคำตอบที่ถูกต้องทั้งหมด ทั้งยังตอบแบบเรียงตามลำดับตัวอักษรอีกด้วย ส่วนเงินรางวัลก็นำไปซื้อเปียโนหลังใหม่ให้ตัวเอง กับรถตู้รถโฟล์กสวาเกนให้ Merce Cunningham พาร์ตเนอร์ของเขาที่กำลังเดินสายทัวร์ทั่วสหรัฐ
นักดนตรีกับหนังสือว่าด้วยเห็ด
ชัยชนะจากอิตาลีช่วยยืนยันว่าเคจเชี่ยวชาญและมีความรู้ด้านเห็ดมากเพียงใด
และในปี ค.ศ. ๑๙๗๒ ยังออกหนังสือเกี่ยวกับเห็ดชื่อว่า The Mushroom Book ร่วมกับ Alexander H. Smith นักเห็ดวิทยา และมี Lois Long เป็นผู้วาดภาพประกอบให้ ซึ่งในหนังสือยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย บทกวี และภาพลายเส้นของเคจร่วมอยู่ด้วย


นอกจากนี้ ยังมีหนังสืออีกเล่มคือ John Cage: A Mycological Foray ที่ช่วยยืนยันว่าเคจมีความเชี่ยวชาญด้านเห็ดอย่างแท้จริง เพราะได้รวบรวมบทความ บันทึก หรือแม้แต่ข้อความที่คัดมาจากไดอารีส่วนตัวที่เกี่ยวกับการตามล่าเห็ดในป่าช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงมารวมไว้ในเล่มเดียว
เรื่องราวของเคจ เต็มไปด้วยการเก็บเห็ดและการกินเห็ด มีทั้งเรื่องที่สร้างเสียงหัวเราะและเรื่องที่สร้างความหงุดหงิดใจ เช่นครั้งหนึ่งที่เขาอยู่งานปาร์ตี้และพูดคุยอยู่กับเพื่อน ๆ ในวงการนักเห็ดวิทยาผู้มีชื่อเสียง และเขาก็ประกาศว่าเขารักพฤกษศาสตร์ เพราะเป็นสาขาที่ปราศจากความเกลียดชังและอิจฉาริษยา แต่สุดท้ายแล้วเรื่องราวก็ลงเอยตรงที่ว่า บรรดาเพื่อนฝูงในแวดวงนักพฤกษศาสตร์ก็มีที่ไม่ชอบขี้หน้า ไม่ต่างกับแวดวงอื่น ๆ (ฮา)

อ้างอิง
https://www.thecollector.com/john-cage-writing-stories-on-silence/
https://artreview.com/why-john-cage-was-mad-about-mushrooms/
https://www.active-cultures.org/john_cage_mushroom_hunter.html
https://galeriemagazine.com/john-cage-mushroom-foraging-book
https://wonderground.press/culture/john-cage/