พลวัตของดนตรีแจ๊สในประเทศไทยกับบทบาทของ TIJC ในการเชื่อมโยงวัฒนธรรมสู่สากล

23 Jan 2025

|
ดนตรีแจ๊สคือความอิสระ เหมือนกับประเทศไทยที่แปลว่าอิสระ ดนตรีแจ๊สเริ่มเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 หรือประมาณปลายรัชกาลที่ 6 โดยบุคคลที่มีความสำคัญต่อวงการแจ๊สเป็นอย่างมากนั้นก็คือ หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ หลังจากที่ท่านสำเร็จการศึกษาจากประเทศอเมริกา ก็กลับมาที่ประเทศไทยและเชิญชวนนักดนตรีชาวไทยจัดตั้งวงแจ๊สสำเร็จในปีพ.ศ. 2471 ชื่อว่า วงเรนโบว์คลับ


วงเรนโบว์คลับ เป็นวงแจ๊สแบบดิ๊กซี่แลนด์ที่ขณะนั้นได้รับความนิยมในอเมริกา เล่นประจำอยู่ที่โฮเต็ลพญาไทสปอร์ตคลับ ประกอบด้วยสมาชิก 8 คนคือ นารถ ถาวรบุตร ตำแหน่งเปียโน บุญเอื้อ สุนทรทนาน ตำแหน่งแซ็กโซโฟน หลวงชาติตระการโกศล (เจียม ลิมปิชาติ) ตำแหน่งแซ็กโซโฟน จำปา เล้มสำราญ ตำแหน่งทรัมเป็ต สาลี่ กล่อมอาภา ตำแหน่งกลองชุด วุฒิ สุทธิเสถียร ตำแหน่งไวโอลิน สมบูรณ์ ศิริภาค ตำแหน่งดับเบิลเบส และหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ตำแหน่งเทเนอร์แบนโจ


ต่อมาในช่วงปีพ.ศ. 2490 ถึง 2510 วงการดนตรีแจ๊สในไทยเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดภายใต้นโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น มีการตั้งวงกรมโฆษณาการที่ต่อมารู้จักในชื่อวงสุนทราภรณ์ โดยมีผู้เป็นแรงขับเคลื่อนคือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพระเจนดุริยางค์ในการประพันธ์เพลงที่ให้ศิลปินและวงดนตรีท้องถิ่นเริ่มผสมผสานเครื่องดนตรีแจ๊สเข้ากับเครื่องดนตรีไทย ซึ่งสร้างสรรค์การแสดงดนตรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนี้บทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทำให้ดนตรีแจ๊สได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งในตัวบุคคลและสถานบันเทิง เช่น โรงแรมและสถานที่จัดงานต่าง ๆ ซึ่งทำให้วงการดนตรีแจ๊สในประเทศไทยกลายเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมการบันเทิงในช่วงยุคกลางของศตวรรษที่ 20


การเติบโตของดนตรีแจ๊สในประเทศไทยดำเนินต่อไปจนกระทั่งในปีพ.ศ. 2541 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มเปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีแจ๊ส มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ เป็นหัวหน้าภาควิชาแจ๊สในขณะนั้น ตามมาด้วยมหาวิทยาลัยดนตรีต่างๆ ในภายหลัง  นอกจากนี้นักดนตรีไทยยังได้รับโอกาสในการแสดงในเวทีสากลและมีการแลกเปลี่ยนทางดนตรีกับศิลปินจากทั่วโลก


ในปีพ.ศ. 2552 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้เพิ่มบทบาทต่อวงการดนตรีแจ๊สโดยการริเริ่มการจัดโครงการงานวิชาการทางดนตรีแจ๊สระดับนานาชาติในประเทศไทย Thailand International Jazz Conference (TIJC) ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญในการพัฒนาวงการแจ๊สในประเทศไทย TIJC เปิดโอกาสให้นักดนตรีไทยได้แสดงฝีมือในระดับสากล พร้อมทั้งได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับศิลปินระดับโลก อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการยอมรับและขยายขอบเขตของดนตรีแจ๊สในวงกว้าง


ในปัจจุบัน ดนตรีแจ๊สในประเทศไทยได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยมีการผสมผสานเทคโนโลยีและแนวดนตรีอื่น ๆ ที่ช่วยเพิ่มความหลากหลายในการสร้างสรรค์งานเพลง และงาน TIJC ยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนาวงการแจ๊สในประเทศไทย ทั้งกิจกรรมที่ให้โอกาสศิลปินและผู้ชมเข้าถึงดนตรีแจ๊สที่มีคุณภาพ การเติบโตของ TIJC ในฐานะเทศกาลดนตรีแจ๊สระดับโลกได้ช่วยให้ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของแฟนเพลงแจ๊สและนักดนตรีจากทั่วโลก


ใครที่อยากสัมผัสประสบการณ์ดนตรีแจ๊สสุดมัน ปี 2568 นี้ จะมีการจัดงาน Thailand International Jazz Conference (TIJC) 2025 ครั้งที่ 16 ในวันที่ 24-26 มกราคม 2568 ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถซื้อตั๋วได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่ลิงก์ด้านล่าง

Munin Jiamkiratikanon

Marketing officer