
สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน ช่วงเดือนมีนาคมนี้ มีเรื่องที่น่ายินดี ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการจัดอันดับในด้านดนตรี (Music) ให้อยู่ในอันดับ ๒๘ ของโลก และอันดับที่ ๔๗ ในสาขาศิลปะการแสดง (Performing Arts) จาก QS World University Ranking ในการจัดอันดับประจำปี ๒๕๖๘
QS World University Ranking เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลก ทั้งในด้านภาพรวมของมหาวิทยาลัยและในด้านของสาขาวิชาเฉพาะ โดยจะจัดเป็นประจำทุกปี การจัดทำ QS World University Ranking เริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๔ ในปัจจุบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ QS ถือว่าได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยข้อมูลอันดับของ QS World University Ranking นั้น เป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนนักศึกษาในการเลือกสถาบันในการสมัครเรียนในสาขาต่าง ๆ ที่เราสนใจ หรือสำหรับตัวสถาบันเอง ข้อมูลอันดับของ QS สามารถบอกให้เรารู้ว่า สถาบันของเราอยู่ตรงไหน และจะพัฒนาไปในทิศทางใดได้บ้าง ซึ่งสำหรับในปีนี้ มหาวิทยาลัยอันดับ ๑ ด้านสาขา Music คือ Royal College of Music ประเทศอังกฤษ
Music Entertainment นำเสนอบทความ “ครูเพลงไทยสากลที่คนลืม” ตอนที่ ๕ ในตอนนี้นำเสนอชีวประวัติและตัวอย่างผลงานเพลงอมตะของครูประสิทธิ์ พยอมยงค์ อีก ๕ บทเพลง ดังนี้ เปียจ๋า เก็บรัก ใครหนอ จูบ และอยู่เพื่อคอยเธอ ในแต่ละบทเพลงนำเสนอข้อมูลความเป็นมาของเพลง เนื้อเพลง โน้ตเพลงและการวิเคราะห์ทางทฤษฎีดนตรี ติดตามได้ในบทความ
Ethnomusicology พาผู้อ่านไปสำรวจกิจกรรมทางวัฒนธรรมนี้ที่มีความสำคัญ ผ่านการจัดปอยหลวงครั้งใหญ่ ของพื้นที่อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน ในงานการแห่ครัวทาน งานฉลองกุฏิ ครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี ที่วัดพระธาตุหัวขัว บรรยากาศของงานและความเป็นมาของงานปอยในพื้นที่ล้านนา ติดตามได้ในบทความ
Classical Guitar นำเสนอบทความเกี่ยวกับนวัตกรรมการสร้างกีตาร์รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “การทำแบบไม้หน้าสองชั้นประกบกัน” หรือแบบดับเบิลท็อป (Double Top) ของทางฝั่งทวีปยุโรป การทำกีตาร์โครงสร้างแบบไม้หน้าสองชั้นมีความเป็นมาอย่างไร และต่างจากแบบใบพัด (Fan Bracing) หรือแบบสเปนดั้งเดิม (Spanish Traditional Bracing) อย่างไร พลิกไปอ่านด้านใน
Music Business ในเดือนนี้ เป็นตอนต่อเนื่องจากบทความวิวัฒนาการในการโปรโมตเพลงของศิลปิน โดยในตอนที่ ๒ นี้ จะพาผู้อ่านไปเรียนรู้ฟังก์ชันต่าง ๆ ของ TikTok ตลอดจนยกตัวอย่างศิลปินที่นำ TikTok เข้ามามีบทบาทในการโปรโมตผลงานจนมีชื่อเสียง และเสนอมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มของ TikTok ในอนาคต
Thai and Oriental Music เป็นตอนต่อเนื่องของลำดับการเรียนเพลงในการเรียนปี่พาทย์ โดยตอนที่ ๑ ได้กล่าวถึงการเรียนจนจบครอบขั้นที่ ๒ (สามารถย้อนอ่านได้จาก Vol. 29 No. 9) ในตอนที่ ๒ นี้จะเป็นรายละเอียดการเรียนเพลงในครอบขั้นที่ ๓ เพื่อเรียนรู้เพลงในชุดโหมโรงกลางวันละคร ผ่านบทเพลงตระบองกัณฑ์ Music: Did you know? พาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับบทเพลงคลาสสิก จากหลากหลายนักประพันธ์ ที่ถ่ายทอดบรรยากาศและพลังของธรรมชาติ ผ่านเทคนิคการประพันธ์ที่หลากหลาย และการนำเสนออย่างสร้างสรรค์