ยาหยี พัทธมน พรหโมปการ นักร้องนำ I Hate Monday

23 Mar 2023


ยาหยี พัทธมน พรหโมปการ หรือที่ทุกคนรู้จักในตำแหน่งร้องนำของวงดนตรี I Hate Monday บัณฑิตป้ายแดงจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล วงดนตรี New Generation ของค่ายเพลง White Music (GMM Grammy) ใคร ๆ หลายคนอยากจะมาเป็นศิลปินในค่ายนี้ เพราะมีศิลปินที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น เป๊ก ผลิตโชค ป๊อบ ปองกูล ลุลา อะตอม ชนกันต์ นิวจิ๋ว Getsunova และอื่น ๆ อีกมากมาย

บัณฑิตป้ายแดง

เพิ่งจบการศึกษาจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขา Popular Music เอก Voice ตั้งแต่จบมาก็เป็นฟรีแลนซ์ สอนร้องเพลง อัดเพลง คุมอัดเพลง ทำทุกอย่างเลยที่เรามีความสามารถไปทำได้ นี่เรื่องจริงนะ แต่ถ้าเป็นตารางที่แน่นอนก็จะเป็นสอนกับร้องเพลง แต่ร้องเพลงไม่ได้ร้องเยอะเพราะต้องร้องตอนกลางคืน และเรามีสอนเช้า เดี๋ยวจะตื่นไม่ไหว

เริ่มรู้จักกับดนตรีได้อย่างไร?

หยีว่าก็น่าจะเพราะได้ยินมาตั้งแต่เกิด ที่บ้านหยีจะเปิดเพลงแล้วเราก็อยู่กับเพลงที่เขาเปิดกัน แล้วเราก็ร้องเพลงออกมาโดยไม่รู้ตัว ตั้งแต่พูดไม่เป็นภาษา แต่มีโน้ตดนตรีออกมา คือพ่อเปิดคลิปวิดีโอให้ดูว่าหยีร้องอะไรก็ไม่รู้ เป็นโน้ตอยู่กับเพลงนั้น แต่ไม่มีคำ (แสดงว่าครอบครัวก็เห็นถึงความสามารถทางด้านนี้ในตัวหยี – ทีมงานถาม) ใช่ค่ะ ตั้งแต่อนุบาลหยีก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่อง รู้แค่เราชอบร้องเพลง พอเราอยู่ประถมศึกษาปีที่ ๑ อายุประมาณ ๖ ขวบ ก็ชอบร้องเพลงแล้ว ก็พูดรู้เรื่องขึ้น รู้สึกว่าอยากเรียนร้องเพลง แล้วพ่อแม่ก็อยากให้เราเรียนร้องเพลงเหมือนกัน แต่เขาตั้งกฎว่าให้หยีสอบได้เกรด ๔ ทุกวิชา ในตอน ป.๑ ถ้าได้ จะให้หยีเรียนร้องเพลง เราก็เลยตั้งใจเรียนจนได้เกรด ๔ ทุกวิชาเลย คงเป็นครั้งเดียวในชีวิตที่ทำได้ แล้วเราก็ได้ไปเรียนร้องเพลงที่ KPN ตอน ๖ ขวบ ยุคนั้นที่นี่ดังมาก แล้วพอ ๗ ขวบ พ่อก็ขับรถพามาดูที่มหิดล หยีจำได้ว่าตอนนั้นยังไม่เจริญเลย เหมือนว่าตอนนั้นมี Seasons Change มั้ง พอมาดูสถานที่แล้วคุณพ่อก็บอกว่า “เนี่ยเดี๋ยว ม.๔ นะ หยีจะมาเรียนที่นี่ บรรยากาศต่าง ๆ ดีมาก ๆ เลย ต้นไม้สีเขียว” ตอนนั้นยังเด็กมาก เราก็งง ๆ หน่อย แล้วก็กลายเป็นว่า ม.๔ ได้เข้ามาเรียนที่นี่ ตามที่คุณพ่อบอกไว้ตั้งแต่ ๗ ขวบ

ก่อนจะเป็นนักเรียนดนตรี

พอโตขึ้นหยีก็เริ่มมีปัญหา ตอนนั้นหยีอยู่ ม.๓ คือหยีไม่ได้เก่งแค่ร้องเพลง หมายถึงว่า ตอนนั้นเราชอบเรียนวิชาการมาก แล้วรู้สึกว่าคณิตศาสตร์มีเหตุผลมาก ๆ คือแบบเวลาคิดเสร็จแล้วได้คำตอบของชีวิตเสมอ คือเราเป็นคนชอบอะไรที่มันเป๊ะ ๆ แล้วคณิตศาสตร์ก็เป็นอะไรที่เป๊ะที่สุดเลย ตอนนั้นก็คุยกับคุณพ่อว่า ลูกขอเวลาอีก ๓ ปีได้ไหม อยากสอบเข้าสัตวแพทย์อะไรแบบนั้น หรือคณะที่มันเกี่ยวกับชีววิทยา ตอนนั้นเราอยู่ ม.๓ ขอได้ไหม มันแบบอินเนอร์แรง เรารู้สึกว่าเรามีความสามารถพอ เราอยากเรียนสายวิทย์ เราไม่อยากเสียมันไป ตอนนั้นคิดว่าร้องเพลงร้องยังไงมันก็เก่งเหมือนเดิม มหาวิทยาลัยเราก็เข้าได้อยู่ดี อะไรอย่างนั้น ทะเลาะกับคุณพ่อเลยนะ แล้วตอนนั้นคุณพ่อมีเพื่อนเป็นสัตวแพทย์ ก็เลยพาไปอยู่ที่คลินิกสัตว์แพทย์ ๑ อาทิตย์ พอเข้าไปอยู่วันแรกคือผ่าตัดทำหมันสุนัข แล้วสุนัขตัวนั้นชีพจรหยุดเต้นแล้วเด็ก ม.๓ ปวดใจมาก แล้วอีกวันสุนัขถูกรถชน ช่วยชีวิตไว้ไม่ได้ การที่พ่อทำแบบนั้นเหมือนพ่อจะคิดในใจว่า ให้ไปเจอสถานการณ์จริงของสัตวแพทย์ แต่เขาลืมคิดไปมั้งว่าหยียังเด็กอยู่เลย เพิ่ง ม.๓ แต่หยีก็เข้าใจนะ เพราะคุณพ่อจะเป็นคนเชื่อในการปฏิบัติลงมือทำเสมอกับทุกอย่าง เช่น ห้องครัวไหม้ ก็ต้องรู้ว่าเกิดจากอะไร พอวันที่ ๔ หยีโทรหาแม่เลยว่าไม่ไหวแล้ว อยากกลับบ้าน จริง ๆ เราไม่ได้กลัวที่เกิดการผ่าตัด มีเลือดออกอะไรแบบนั้นนะคะ แต่ว่ามันเศร้ากับการที่ไม่สามารถช่วยชีวิตสุนัขได้ หลังจากนั้นก็กลับบ้าน การที่เรากลับบ้านก่อนกำหนด เราเหมือนเป็นผู้แพ้ในข้อตกลงนี้ เพราะฉะนั้นเราก็เลยต้องเข้ามาเรียนดนตรีตอน ม.๔ ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เตรียมอุดมดนตรี

พอเข้ามาเรียน ม.๔ ที่นี่ ก็ต้องปรับตัวเข้ากับสภาพสังคม หยีว่าเพื่อนมีความหลากหลายมาก ตอนที่เข้ามาใหม่ ๆ เรากลัวมาก หยีเคยโทรหาแม่เลยนะว่าหยีไม่เรียนที่นี่แล้วได้ไหม แต่พอได้รู้จักกับเพื่อนจริง ๆ พอปรับตัวได้ก็เปิดโลก แล้วก็รู้สึกว่าพอมันอยู่กับทุกคนที่เรียนดนตรีเหมือนกัน ก็เลยมีแรงผลักดันที่แรงมาก ยกตัวอย่างเพื่อนหยี ชื่อปิง เป็นมือกลอง มันจะจองห้องซ้อมกลองในทุกครั้งที่ว่าง หยีไม่เคยเจอกับมันเลย ยกเว้นว่ารอห้องซ้อมอยู่ เราก็ อ๋อ เธอทำแบบนั้นเหรอ เดี๋ยวฉันต้องทำเหมือนเธอนะ ความเป็นจริงหยีเป็นคนขี้เกียจมาก ๆ เลยนะเมื่อเทียบกับเพื่อน ๆ อย่างเพื่อนหยีหลาย ๆ คนที่มีชื่อเสียงในวันนั้น หรือเป็นนักดนตรีของศิลปินดัง ๆ อย่างกร (AUTTA) ตอนนั้นก็ซ้อมตลอด ทุกคนก็จะมีที่ของตัวเองเพื่อซ้อม แล้วพอเห็นทุกคนซ้อมเราก็ต้องซ้อมด้วย มันเลยเก่งไปด้วยกัน เหมือนเป็นแรงผลักดันหมู่ มีผลกับชีวิตมาถึงตอนนี้เลยนะ

ความประทับใจที่เตรียมอุดมดนตรี

ร้องประสานเสียง หน้าแถวตอนเช้า คือช่วงเดือนแรกยากมากเลยค่ะ เราอ่านโน้ตไม่ได้คล่องขนาดนั้น เราเป็นนักร้องไม่ใช่นักดนตรี แต่หลังจากนั้นชอบมากเลย ไม่รู้ทำไม มันดูน่าเบื่อ แล้วก็ไม่รู้ว่าจะร้องทำไมเหมือนกัน แต่ว่าชอบ มันไม่ได้ร้องเพลงเหมือนเราต้องร้องเพลงสวย ๆ มันคือต้องร้องให้ถูกและร้องให้ดัง แล้วพอเป็นกิจกรรมตอนเช้า มันก็ทำให้เราตื่นตัวที่อยากจะไปเรียนสิ่งต่าง ๆ และใช้ชีวิตประจำวันเลยนะ ทำให้วิชาแรกที่เรียนในแต่ละวันไม่ง่วง บางคนก็คงคิดว่าทำไมต้องมาร้องอะไรตอนนั้น แต่บางคนหยีเห็นเขาก็ตั้งใจดีนะ มันเหมือนร้องเพลงกับเพื่อนไง แล้วเพลงที่เขาเอามาร้องก็ไม่ได้น่าเบื่อตลอดเวลา

I HATE MONDAY

ก็คือเพื่อนเลยค่ะ ตั้งแต่ ม.๔ เลย เริ่มจากหยีกับปิง เราสนิทกัน และอยากหาสมาชิกวงที่จะไปแข่งดนตรี น่าจะเป็นงานของศิลปากร ตอนนั้นยังไม่มีวง แบบมันคือความใฝ่ฝันหนึ่งในชีวิต ด้วยความที่ห้องที่เราเรียนคนมันน้อย ก็เลยหันไปชวนเพื่อนที่นั่งติด ๆ กัน ก็เลยได้มาเป็น I HATE MONDAY มี ยาหยี ปิง มิค ฟอร์ด โน่ ส่วนที่มาของชื่อวง ก็ตอนจะไปแข่งมันต้องส่งว่าจะใช้ชื่อวงว่าอะไร ก็คิดกันอยู่นาน แล้วปิงก็หาใน Google ว่า “ตั้งชื่อวง” แล้วก็ไปเจอวงที่ชื่อ I Don’t Like Mondays พวกเราก็เลยรู้สึกว่าชอบ งั้นเราก็ตั้งชื่อว่า I HATE MONDAY แล้วกัน ง่ายไหม แค่นี้เลย


Hotwave Music Awards 2017

ตอนนั้นเราอยู่ที่ BTS สยาม เราเห็นประกาศ เราก็สงสัยกันว่ากลับมามีการแข่งแล้วเหรอ แล้วตอนนั้นก็อยู่กับวงพอดี เลยคุยกันว่าแข่งไหม หลังจากนั้นก็ไปซ้อมกัน แล้วก็ส่งคลิปไป แล้วก็เข้ารอบตามที่ทุก ๆ คนได้เห็นกัน ในการแข่งขันหลาย ๆ ครั้ง พอเข้ามารอบลึก ๆ ก็สนุกนะ ถ้าไม่ได้ทำที่ Hotwave ก็ไม่รู้จะไปทำที่ไหนแล้ว อย่างเพลงเรื่องที่ขอ เป็นหนึ่งเพลงในรอบ Semi-Final เราซ้อมกันไม่ถึง ๕ รอบ แล้วเราก็แข่งเลย มันเป็นสไตล์แจ๊ส แล้วก็ใส่กันบนเวทีเลย หยีอยากจะบอกว่าการแข่ง Hotwave Music Awards ที่ผ่านมา หยีประทับใจในทุก ๆ รอบเลยนะ ในแต่ละสนามที่ไปแข่ง ในแต่ละโรงเรียน รู้สึกว่าเราโชคดีมากเลยที่ได้ไปเล่นในที่ที่หลากหลาย ได้เจอผู้คนเยอะ ๆ ได้ส่งความรู้สึกผ่านบทเพลงไป หยีเลยชอบทุกที่เลยตอนนั้น เพราะทุกคนก็สนุกไปด้วยกันในแต่ละที่

แสงสุดท้าย

เพลงนี้เป็นเพลงในรอบ Semi-Final เราซ้อมกันไม่เสร็จ จำได้ว่าต้องไป Soundcheck ตอนเช้า แต่เที่ยงคืน ตีหนึ่ง ยังซ้อมอยู่เลย ร่างกายเราก็เลยไม่ไหว พอไปแข่งเหมือนเราเหนื่อยกันมามากแล้ว เลยทำให้เรารวน ๆ ในการแข่ง ผลลัพธ์เลยออกมาไม่เต็มที่เท่าไร

White Music

พอจบจากรายการ Hotwave Music Awards ในปี ๒๐๑๗ ก็ปล่อยเพลงหยดนี้ให้เธอ กระแสตอบรับค่อนข้างดี ก็คุยกับหลายค่ายแล้วตอนนั้น White Music ก็มีพี่ป๊อบ ปองกูล พี่โอ๊ต ปราโมทย์ เป๊ก ผลิตโชค ลุลา Getsunova และศิลปินอื่น ๆ อีกมากมาย ค่าย Genie Records ค่าย LoveiS ตอนนั้นก็เลยเลือก White Music

ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังเป็นศิลปินภายใต้ White Music ที่ไม่มีใครรู้

ต้องยอมรับว่าเมื่อเข้าไปในค่ายแล้ว เราเด็กกันมากนะ เพราะว่าเพิ่งจบมัธยมศึกษาปีที่ ๖ มันไม่รู้วิธีการทำงานของศิลปินจริง ๆ ที่เขาควรทำ ตอนนั้นยังไม่มี ฟอร์ด ธรณินทร์ วิไลลักษณ์ (มือเบสของวงตอนประกวด Hotwave Music Awards) พอไม่มีฟอร์ดเหมือนไม่มีปาก คือหยีเป็นคนที่ไม่ชอบพูดกับคนเยอะมาก ด้วยนิสัยส่วนตัว แต่ถ้าเป็นงานที่หยีต้องพูด หยีก็จะพูด แต่พอไม่มีฟอร์ดแล้วเหมือนไม่มีตัวสื่อสาร การทำงานของวงในช่วง ๒ ปีแรกที่เราอยู่ใน White Music เราไม่ค่อยได้เจอกันเลย แบบงงเหมือนกัน เป็นช่วงเข้าปี ๑ ด้วยแหละ เรียนกันคนละสาขา เหมือนเจอกันแค่นัดทำเพลง ปล่อยเพลงโพรโมต นัดถ่ายมิวสิกวิดีโอ แค่นั้นเลย เจอกันน้อยมาก แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องเจอกันบ่อยกว่านี้ ตอนนั้นเรายังเด็ก เราไม่รู้ว่าต้องทำงานอย่างไรในการเป็นวงดนตรีมืออาชีพ อย่างวงรุ่นน้องเรา ลิงรมย์ เขารู้ว่าต้องทำงานอย่างไร วงเราในวันนั้นไม่รู้เลยว่ามันต้องเจอกันบ่อยหรอ แล้วเราต่างคนก็มีงานของตัวเอง สุดท้าย ๒ ปีแรกก็ผ่านไป มีเพลงปล่อย ๑ เพลง คือเพลงปล่อยเธอไป (Hide & Seek) กระแสตอบรับก็ใช้ได้อยู่ จนช่วงไม่นานมานี้ ฟอร์ดกลับมาในวง เราก็มีการปรับการทำงาน ประมาณว่าต้องเจอกันทุกอาทิตย์ แม้ว่าจะได้งานหรือไม่ก็ตาม มีแผนงาน ดูแพลนงานว่าจะส่งงานนี้เมื่อไหร่อย่างไร หยีว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะฟอร์ดด้วย เพราะฟอร์ดช่างคุย แล้วทุกคนก็โตขึ้น เราก็มานั่งคุยกันว่าจะต่อสัญญาไหม แต่ก็งงอีกเหมือนเดิมว่าทำไมต่อที่เดิม ทั้ง ๆ ที่มี connection ในการไปได้หลาย ๆ ค่ายเพลง ดีใจที่มีฟอร์ดกลับมา วันหนึ่งอยากจะเล่าให้ฟังวันที่ไม่มีฟอร์ดเพราะติดงานแล้ววงต้องคุยงานกัน ก็คุยกันประชุมกันเอง ๖ โมงถึง ๔ ทุ่ม ปกติถ้าฟอร์ดอยู่ ไม่ว่าจะออกนอกเรื่องไปขนาดไหน ฟอร์ดจะเป็นคนที่กลับเข้ามาเรื่องงานเรื่องเพลงเสมอ แต่พอไม่มี ไปไหนไม่รู้ออกทะเลไปเลย

ประทับใจเพลงไหนของ I HATE MONDAY

ชอบทุกเพลงนะ ชอบที่สุดน่าจะเป็น ปล่อยเธอไป (Hide & Seek) เป็นเพลงที่เพราะมากสำหรับหยีนะ เพลงนี้หยีไม่ได้แต่งเอง ปิง ภัทรกร ธนภัคศิวการ (กลอง) เป็นคนแต่ง เรารู้สึกว่าเป็นเพลงที่ฟังแล้วรู้สึกถึงบรรยากาศมาก ๆ แต่ไม่ได้รุนแรง รู้สึกว่ามันเป็นคาแร็กเตอร์ของวงดี อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน

เพลงที่แต่งเอง

ยอดนักสืบ หยีก็รู้สึกนะ แบบยุ่งจังเลย เอาเรื่องของป้าข้างบ้านมาเขียน วันนั้นหยีไปที่บ้านยาย แล้วบ้านยายก็จะมีป้าข้างบ้าน คือแบบป้าข้างบ้านในอุดมคติเลย มนุษย์ป้า ก็คือแบบหยีก็จะไปขึ้นรถนี่แหละ อ้าวยาหยี แล้วก็เริ่มคำถาม ป้ารู้ โลกรู้ เดี๋ยวป้าอีกข้าง ๆ บ้านก็ได้รู้ คือหยีก็รู้สึกว่าเพลงนี้มันเจ๋งดี คือมันไม่ใช่เพลงรักอ่ะ คือเพลงที่อยู่ในตลาดที่เราฟังกันจะเป็นของฉันและเธอต่าง ๆ แต่เพลงนี้เป็นเรื่องของบุคคลที่สาม เป็นเพลงที่คอนเทนต์มันพิเศษดี

เป้าหมายในชีวิต

ถ้าในพาร์ทของ I HATE MONDAY จริง ๆ ปี ๒๕๖๖ จะมีอัลบั้ม ก็อยากจะทำอัลบั้มให้ดีที่สุดในทางของพวกเรา และจะพยายามอัปเดตโซเชียลมีเดียของตัวเอง คือตัวเองจะไม่ค่อยอัปเดตโซเชียลมีเดียเท่าไร เวลาหยีเล่นโซเชียลแล้วจะเป็นโซเชียลแพนิก คือเวลาเล่นมาก ๆ จะเครียด จะซึม แต่ก็จะลองดูว่าเพื่อน ๆ ในวงคนไหนเล่นได้บ้างก็จะพยายาม พอโตขึ้นผลงานก็พัฒนาขึ้นเสมอแหละ ตอนนี้ก็เข้าร่องเข้ารอยขึ้นนะ มันไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว

ติดตามผลงาน

ปีหน้ามีอัลบั้มประมาณ ๕ เพลง อาจจะมีผลงานของนักเรียนของยาหยี เช่นประกวดโน่นนั่นนี่ ฝากติดตามผลงานของลูก ๆ หยีด้วยนะคะ ติดตามผลงานได้ทาง Instagram (yyayeeeee) ของหยีแล้วกันค่ะ

[MUSIC JOURNAL Volume 28 No. 3 | November 2022]

Attawit Sittirak

เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล