ผลแห่งการเรียน

06 Dec 2023

การแสดงในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยมหิดล ปีการศึกษา ๒๕๖๕

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ น่าจะเป็นสถาบันเดียวที่มีโอกาสได้ถวายการแสดงในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ปีก่อน ๆ ทางวิทยาลัยเคยสร้างสรรค์การแสดงสำหรับงานนี้มาได้อย่างดีมาก เป็นที่กล่าวถึงไปทั่ว และกลายเป็นวิดีโอไวรัล ได้แก่ การแสดงชุด La Bourée ลาวดวงเดือน น้ำตาแสงไต้ ที่มีภูมิ แก้วฟ้าเจริญ เป็นผู้ขับร้อง

ปีนี้การแสดงในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรจึงถูกคาดหวังอีกครั้ง เป็นความกดดันในส่วนของคณะผู้ปฏิบัติงาน แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ไม่รู้ลืมจริง ๆ ผู้เขียนและอาจารย์ช่อลดา สุริยะโยธิน หัวหน้าสาขาวิชาการขับร้องและละครเพลง ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบจัดการแสดงกันคนละชุด คนละวันกัน ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้จัดชุดการแสดงถวายในโอกาสวันรับปริญญาวันที่สอง คือ วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๖ ชื่อชุดว่า “ผลแห่งการเรียน” การแสดงชุดนี้ประกอบด้วย ๓ ส่วนหลัก ๆ ได้แก่

๑. บทนำ ขบวนนักศึกษาบรรเลงเครื่องเคาะจังหวะ
๒. บทร้อยกรอง บทพระราชนิพนธ์ “ผลแห่งการเรียน” ด้วยทำนองสรภัญญะ
๓. การขับร้องลักษณะการเอื้อนทำนองแบบดนตรีตะวันตกที่เรียกว่า เมลิสมา (Melisma) เป็นการอวยพรบัณฑิต

๑. บทนำ

ช่วงต้นของการแสดง ผู้ชมจะได้ยินเสียง drone ลากยาว นำขบวนเข้ามาในหอประชุมมหิดลสิทธาคารจากด้านหลังเก้าอี้ผู้ชมอย่างสง่างาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนพล เศตะพราหมณ์ ผู้ประพันธ์ดนตรี กล่าวว่า “เสียงประสานจากเครื่องสาย สร้างขึ้นมาเพื่อให้บรรยากาศศักดิ์สิทธิ์ คงกลิ่นอายดนตรีไทย” ในท่อนนี้ขบวนนักศึกษาจะบรรเลงเครื่องเคาะจังหวะไปด้วย เริ่มจากเสียงกังสดาลและเครื่องเคาะที่เป็นวัฒนธรรมดนตรีในภูมิภาคอุษาคเนย์ เช่น ระฆังทองเหลือง ต่อด้วยเครื่องเคาะที่ทำด้วยไม้ เสมือนเป็นการปลุกจิตแห่งการตื่นรู้ ให้ผู้ชมพร้อมที่จะรับฟังบทร้อยกรองและรายการอื่น ๆ ต่อไป

ที่มาของเครื่องเคาะจังหวะ มาจากที่ผู้เขียนได้ไปเดินชมพิพิธภัณฑ์ดนตรีอุษาคเนย์ (SEAM Museum) ของวิทยาลัยเมื่อหลายเดือนก่อน พบเครื่องดนตรีไทย เครื่องดนตรีพื้นบ้าน และเครื่องดนตรีในภูมิภาคอุษาคเนย์ จึงเกิดความประสงค์ที่จะนำเครื่องดนตรีเหล่านี้มาบรรเลง จึงขอให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนพล เศตะพราหมณ์ เป็นผู้คัดเลือกเครื่องเคาะมาผสมระหว่างโลหะกับไม้

๒. บทร้อยกรอง ขับทำนองสรภัญญะ

เราตกลงกันว่าจะคัดเลือกบทร้อยกรองที่มีความหมายเกี่ยวกับการศึกษามานำเสนอประกอบดนตรี เบื้องต้นบทกลอนจากวรรณคดีไทย เช่น เรื่องพระอภัยมณี ตอนฤาษีสอนสุดสาคร โคลงโลกนิติ ฯลฯ ก็ยังมีความหมายไม่ถูกใจ จนแม้ได้ประพันธ์บทร้อยกรองขึ้นใหม่ ก็ยังไม่ได้ความหมายตามที่ต้องการอยู่ดี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์กฤษติ์ บูรณวิทยวุฒิ จึงเสนอให้อัญเชิญบทพระราชนิพนธ์ร้อยกรองในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาประกอบการแสดงดนตรี บทพระราชนิพนธ์นี้มีชื่อว่าเรื่อง “ผลแห่งการเรียน” จากหนังสือมณีพลอยร้อยแสง ที่ทรงให้แนวคิดเกี่ยวกับความสำคัญของการศึกษา ดังนี้

“ศึกษาวิชาไว้             ก็จะได้ประโยชน์ครัน
เพื่อช่วยประเทศพลัน           จิตเราก็เปรมปรีดิ์
ความรู้ประโยชน์พร้อม    เพราะถนอมสกนธ์ศรี
การเรียนจะให้ดี                 ผลเด่นขยันจง
ช่วยชาติและตนยัง        จะประทังสกุลวงศ์
ไทยเราจะยืนยง            เพราะประชาระลึกเรียน”

เราตกลงจะนำเสนอบทร้อยกรองเป็นการขับทำนองแบบไทย ผู้เขียนได้เรียนเชิญอาจารย์ดวงเดือน หลงสวาสดิ์ ให้เข้ามาเป็นคณะทำงาน อาจารย์กล่าวว่า “ได้รับมอบหมายให้บรรจุทำนองเพลงไทยลงในบทพระราชนิพนธ์ร้อยกรองในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผนวกกับเนื้อหาการแสดง ที่ได้รับการบอกเล่าภาพรวมของชุดการแสดงที่ต้องการบรรยากาศที่ดูศักดิ์สิทธิ์ เมื่อได้รับบทร้อยกรอง ‘ผลแห่งการเรียน’ ซึ่งเป็นร้อยกรองประเภทอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ ทำให้นึกถึงทำนองสรภัญญะ ซึ่งเป็นทำนองขับร้องสำหรับสวดคำที่เป็นฉันท์อยู่แล้ว เมื่อเห็นบทจึงสามารถบรรจุทำนองได้อย่างกลมกลืน และเลือกซอสามสายบรรเลงคลอร้อง การได้มีส่วนร่วมครั้งนี้รู้สึกมีความสุขและภูมิใจที่ได้ทำประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล”

อาจารย์นพดล ถิรธราดล เสนอให้เก่ง ธชย ประทุมวรรณ ศิษย์เก่าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ศิลปินนักร้องผู้มีชื่อเสียงทางด้านดนตรีไทย ให้มาเป็นผู้ขับทำนอง เก่ง ธชยให้ความร่วมมืออย่างดีมาก ๆ เขารู้สึกปีติยินดีที่จะได้ขับเพลงต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก ๆ สำหรับคนที่เป็นสายดนตรีไทย ท่านเป็นแรงบันดาลใจให้กับเก่ง เรารู้สึกว่านี่คือโอกาส โอกาสแต่ละคนไม่เหมือนกันนะ บางคนอาจจะเจอท่านบ่อย แต่เก่งเจอท่านน้อยมาก เลยรู้สึกตื้นตัน ดีใจ มีความสุข”

วันซ้อมใหญ่ อาจารย์ยสวันต์ มีทองคำ วาทยกร ทบทวนเพลงให้คณะขับร้องประสานเสีย

การซ้อมและจัดการแสดง

การทำงานการแสดงครั้งนี้ เป็นความร่วมมือจากหลายฝ่ายจริง ๆ เราประชุมกัน เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง ยกเลิกบางสิ่งบางอย่าง หาสิ่งที่ดีกว่า ปรับไป แก้ไป วันที่ตื่นเต้นมากที่สุดวันหนึ่งคือวันที่เข้าไปซ้อมในหอประชุมใหญ่ ทุกฝ่ายทำงานหนัก เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ตอนแรกเราทดลองแบ่งวงประสานเสียงให้เป็นสองส่วน ยืนแยกกันเป็นสองแถว แต่เมื่อฟังแล้วพบว่าเสียงกระจาย ไม่ได้ความหนักแน่นเท่าที่ควร จึงตัดสินใจให้วงทั้งหมดมายืนอยู่ด้วยกันที่ช่องทางเดินที่กลางหอ

คณะนักร้องของเราจะทำหน้าที่เคาะจังหวะไปด้วย ตอนแรกได้กำหนดลีลาการเดินอย่างซับซ้อน เดินกลับไปมา ปรากฏว่าพบอุปสรรคจากการที่นักร้องต้องใส่รองเท้าส้นสูง จึงได้ตัดทอนการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนออกไป คงไว้แต่ความมินิมัล แต่ดูขรึมขลัง

ในส่วนของดนตรีไทย ได้ปรับเปลี่ยนการแสดงไปใช้แทรคที่มีการบันทึกเสียงมาแล้ว จึงเปลี่ยนบทบาทให้นักศึกษาดนตรีไทยสองคน คือ นางสาวกัญจน์ณัตถ์ เยี่ยมศักดิ์ และนายภราดร พนมเขต มาทำบทบาทใหม่ คือเป็นผู้เชิญ “ดวงแก้วแห่งปัญญา” ลงมาแทน (ดวงแก้วนี้คืออุปกรณ์ประกอบที่เป็นไฟดวงกลมมีแสงสีเหลืองอร่าม) ผู้เขียนตีความว่า เก่ง ธชย เป็นเสมือนตัวแทนบัณฑิตหรือนักเรียนนักศึกษาที่ไขว่คว้าหาปัญญา (ซึ่งก็คือดวงแก้ว) อย่างมุมานะ เมื่อเก่งขับทำนองสรภัญญะเสร็จ นักศึกษาทั้งสองที่ถือดวงแก้วแห่งปัญญาก็จะเดินลงมาถึงเก่งพอดี เก่งจะแสดงลีลาการไขว่คว้าดวงแก้ว เสมือนเป็นการแสดงความสนใจในการแสวงหาความรู้

เรามีโอกาสได้ซ้อมใหญ่การแสดงหนึ่งวัน แล้วก็มีการซ้อมกับบัณฑิตในวันที่ ๗ ตุลาคมอีกครั้ง ก่อนจะแสดงจริงในวันที่ ๑๐ ตุลาคม


เก่ง ธชย ให้ความเห็นว่า “ความยากของโชว์เป็นเรื่องของการตีความกับตัวเนื้อหาของข้อความที่จะส่ง มันรวมหลายศาสตร์ มีไทย เธียเตอร์ คลาสสิก ทางฝั่งตะวันออก ตะวันตก ทุก ๆ อย่างรวมกันในโชว์โชว์เดียว แล้วก็ใช้ความคิดสูง แต่ทุกอย่างถูกย่อให้อยู่ในเวลาที่จำกัด ตอนซ้อมมันก็ยาวนะ แต่พอเล่นจริงมันสั้นมากเลย มันจบไปแบบเร็วมาก ๆ เลยครับ”

ตลอดระยะเวลาการทำงานและช่วงซ้อมการแสดง ได้รับกำลังใจและความตั้งใจมุ่งมั่นจากทุกฝ่ายอย่างดียิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หอ ฝ่ายเสียง แสง คณะทำงานจากมหาวิทยาลัยมหิดล คณะผู้บริหารวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เจ้าหน้าที่กิจกรรมของวิทยาลัย พนักงานวิทยาลัย ฯลฯ งานนี้เป็นงานที่ได้รับความช่วยเหลือจากทุกฝ่ายเต็มที่จริง ๆ ในที่สุดทุกอย่างก็จบลงได้ด้วยดี ขอขอบคุณ ทุกท่าน ทุกคน ที่มีส่วนร่วมในครั้งนี้ งานยิ่งใหญ่ระดับนี้ไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยคนคนเดียวหรือไม่กี่คนได้อย่างแน่นอน


(สามารถรับชมวิดีโอบันทึกการแสดง “ผลแห่งการเรียน” ได้ทาง YouTube ของ Mahidol Music Channel – https://www.youtube.com/watch?v=FsHK2lQU_Og)

Napisi Reyes

อาจารย์ สาขาวิชาการขับร้องและละครเพลง