ใจกว้างใหญ่ทั่วขอบฟ้าไท

06 Dec 2023

การแสดงในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยมหิดล ปีการศึกษา ๒๕๖๕

การแสดงในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๕ ได้เริ่มต้นจากปีที่แล้ว ที่มีการแสดงในช่วงท้ายพิธี โดยนำเอาเพลงซึ่งเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้วมาร้อยเรียงขึ้นเป็นเพลงใหม่ แต่ปีนี้ ชุดการแสดงมาจากความตั้งใจนำเอาศาสตร์ด้านการแสดงมาออกแบบร่วมไปกับดนตรี โดยเริ่มต้นจากการประชุมหารูปแบบการแสดงที่เหมาะสมมากที่สุด จนได้ออกมาเป็น ๒ ชุดการแสดง

การแสดงของวันแรก เป็นการแสดงดนตรีประกอบ ชุด “ใจกว้างใหญ่ทั่วขอบฟ้าไท” โดยในความคิดแรก เราอยากจะนำเอาวัฒนธรรมของ ๒ ชาติมารวมกัน คือ ไทย-จีน เนื่องจากเราจะเห็นภาพการทรงงานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ท่านทรงเป็นทูตสัมพันธไมตรี ไทย-จีน มาโดยตลอด และเด็กนักศึกษาจีนของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เริ่มมีมากขึ้น จึงอยากให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการทำงานชิ้นนี้ด้วย

หลังจากนั้นจึงพูดคุยกันว่า ในเมื่อการแสดงนี้เป็นการแสดงในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งผลงานพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่านมีอยู่มากมาย มีผลงานใดบ้างที่กล่าวถึงเรื่องการเรียนรู้ การแสวงหาปัญญา ทางผู้ออกแบบจึงสนใจงานพระราชนิพนธ์เรื่อง “มุ่งไกลในรอยทราย” ที่ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน มีบทพระราชนิพนธ์ร้อยกรองกล่าวถึงเรื่องของเวลาที่เดินอย่างไม่หยุดนิ่ง และเราไม่สามารถที่จะเรียนรู้ทุกอย่างได้เพียงพอ เพราะความรู้ไม่มีสิ้นสุด

“แม้อีกสักร้อยปี                ฉันยังไม่มีเวลา
พอเยือนเยี่ยมโลกา              ทั่วขอบฟ้าท่องเที่ยวไป
ถึงวิ่งเร่งรีบรุด             ถ้าไม่สุดลมหายใจ
อยากเห็นทุกสิ่งใน              พื้นแหล่งหล้าจักรวาล
เปิดดวงใจให้กว้าง         รับทุกอย่างอย่างเบิกบาน
เปิดหูตานานนาน               เพื่อค้นคิดสัจธรรม
และเพื่อจะรักยิ่ง           รักรู้จริงรักจะจำ
ด้วยรักร้อยถ้อยคำ              เป็นลำนำจวบร้อยปี”

ทางด้านผู้กำกับลีลาและการแสดง จึงอัญเชิญบทพระราชนิพนธ์ร้อยกรองชิ้นนี้ มาใส่ไว้ในการแสดงประกอบดนตรีชุดนี้ด้วย

ในปีนี้ ทางมหาวิทยาลัยมหิดลของเรา มุ่งเน้นเรื่องของการสื่อสารกับผู้พิการทางการได้ยินมากขึ้น เราจะเห็นว่า ในงานปฐมนิเทศ ปีการศึกษา ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยให้ความรู้แก่นักศึกษาของเราในการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีข้อจำกัดและมีความแตกต่าง แต่เราก็ยังเป็นมหิดลเดียวกัน จึงเห็นว่า ถ้าเราได้นำเอาภาษามือมาใช้สื่อสารร่วมกับจินตลีลาที่จะประกอบเพลงชิ้นนี้ ในงานพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่าน ก็น่าจะออกมาเป็นผลงานที่สวยงามและสื่อสารออกไปได้หลายกลุ่มมากขึ้น

เมื่อเราได้รวบรวมความคิดรูปแบบทั้งหมดที่คาดว่าจะใช้สื่อสารออกมาในผลงานการแสดงประกอบดนตรีแล้ว ก็จะคุยในส่วนของดนตรีที่อยากแสดงออกถึงความสงบนิ่งและสติภายในจิตใจของมนุษย์เรา เลยนึกถึงการฝึกสมาธิ ความนิ่งภายในจิตใจ จึงได้เริ่มต้นคุยไอเดียเพลงกับอาจารย์ปิญชาน์นันท์ ใจประสงค์ และได้มอบหมายให้นักศึกษาเอกประพันธ์ดนตรี นายจิรพัส ลี้ตระกูลนำชัย เป็นผู้ดูแลเพลงประกอบการแสดงนี้ โดยอธิบายภาพที่อยากให้เกิดขึ้นในการแสดงชุดนี้ และจะมีการวางรูปแบบอย่างไรบ้าง ซึ่งเพลงถือเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบลีลาและการแสดง

การประพันธ์เพลงจึงเริ่มต้นจากเสียงฆ้อง ที่แสดงถึงเสียงระฆังวัดเหมือนกับเป็นการเริ่มสวดมนต์ แล้วต่อด้วยเสียงกลอง ที่แทนการเดินทาง และเสียงขลุ่ย ในทำนองจีน ที่เหมือนกับการนำสู่การเดินทางค้นหาความรู้ ในเพลงได้ชวนนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาการขับร้องและละครเพลง เอกขับร้องคลาสสิก มาร่วมขับร้องเพลงเป็นลำนำทำนองจีน เพื่อให้เห็นบรรยากาศและนำพาผู้ฟังสู่หุบเขาในประเทศจีน ในช่วงแรก ภาพการแสดงประกอบ มีการนำเทียนมาใช้เป็นสัญลักษณ์การส่องสว่างเพื่อนำทางเราไปสู่การเรียนรู้ นักแสดงเดินทาง มีการแปรแถวหันหลัง เหมือนกับการเดินขึ้นภูเขา ที่ถือได้ว่าเป็นหนทางที่ลำบาก แล้วหันกลับมาทำท่าแหวกว่าย เหมือนกับผู้ที่ว่ายน้ำฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ไปในกระแสน้ำ และเมื่อวางเทียนลง ก็ได้หายใจเข้า เพื่อนิ่งและทำสมาธิ


ต่อมานักแสดงจะเดินลงมาเพื่อเรียงแถวการทำท่าภาษามือประกอบบทร้อยกรองข้างต้น โดยภาษามือนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์วัลลภ บ่อนิล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันราชสุดา เป็นผู้ฝึกสอนและเรียบเรียงภาษามือให้เข้ากับบทร้อยกรองนี้ โดยในเบื้องต้นอาจารย์ได้ทำท่าที่เป็นภาษามือในการสื่อสารทั้งประโยค แต่ด้วยการออกแบบลีลาไปด้วย จึงได้ขออนุญาตอาจารย์ให้สอนภาษามือเป็นคำที่มีความหมายในบทร้อยกรอง เพื่อนำมาประกอบการออกแบบลีลานี้ให้เหมาะสมที่สุด และได้มีการสอบถามถึงบางท่าที่อาจจะต้องใช้ทั้งร่างกาย เพื่อสื่อสารทดแทนภาษามือในบางช่วง หลังจากได้ฝึกซ้อมทั้งหมดแล้ว ก็จำเป็นต้องส่งวิดีโอไปเพื่อตรวจสอบว่า ในภาพรวมนั้น เมื่อใช้สื่อสารออกมาแล้ว สามารถเข้าใจบริบทของบทร้อยกรองทั้งหมดได้ ซึ่งอาจารย์ก็ได้ชื่นชมมาว่าเป็นการออกแบบจินตลีลาภาษามือที่สวยงามมาก และไม่คิดว่าภาษามือจะสามารถออกแบบให้ออกมาเป็นการแสดงในรูปแบบนี้ได้

ในช่วงท้ายของการแสดงนั้น ผู้แสดงจะสื่อถึงการกลับสู่สติ สมาธิ และเดินทางต่อไปเพื่อแสวงหาความรู้ โดยการนำเทียนกลับมาเพื่อนำทาง และนักร้องนั้นจะร้องว่า “แม้อีกสักร้อยปี แม้อีกสักร้อยปี ร้อยปี ร้อยปี ร้อยปี…” เป็นการร้องเพื่อบ่งบอกว่า ไม่ว่าจะอีกแสนนานเท่าไหร่ เราก็ยังคงเดินทางหาความรู้อย่างไม่สิ้นสุด พร้อมด้วยเสียงกลองที่ตีส่งให้ทุกคนยังก้าวเดินต่อไป และกลับมาจบลงด้วยเสียงฆ้อง ที่ยังก้องกังวานเสมอไป

ผลงานชิ้นนี้ ถือได้ว่าเป็นผลงานที่นำเอาศาสตร์ของดนตรี การแสดง และภาษามือ มาสร้างสรรค์ร่วมกันได้อย่างกลมกล่อมงดงาม ได้เห็นวัฒนธรรมไทย-จีน ผ่านลำนำ ทำนองเพลงจีน และการตีกลองจีน ผสมผสานกับบทร้อยกรองที่มีความเป็นไทย และสื่อสารภาษามือผสมผสานกับนาฏศิลป์สากล ทำให้การแสดงครั้งนี้มีความสวยงามลงตัวมาก ๆ

สำหรับความท้าทาย ในการทำงานชิ้นนี้ คงเริ่มจากการแต่งเพลงออกมาให้ได้ความรู้สึกนิ่ง สงบ แบบการทำสมาธิในวัดที่ใกล้หุบเขา อยากให้ผู้ฟังได้ยินเพลงแล้วจินตนาการได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเสียงลม เสียงฆ้องที่ก้องกังวาน หรือเสียงกลองที่ทำให้เราเข้าถึงการเดินทางในที่ที่ยากลำบาก นอกจากนั้นก็คงเป็นการนำเอาภาษามือมาสร้างสรรค์ สื่อสารในรูปแบบที่แตกต่างออกไป ผสมจินตลีลาที่แสดงออกถึงปัญญา ความสงบ ความนิ่งภายในใจ มากไปกว่านั้น การแสดงในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรนั้น มีพื้นที่ที่เต็มไปด้วยบันฑิตรายล้อม นักแสดงจะต้องมีความกล้าและจิตใจที่เด็ดเดี่ยวเป็นอย่างมาก เพราะการที่ต้องเต้นในพื้นที่จำกัดนั้น นักแสดงต้องมีไหวพริบและท้าทายตนเอง เพื่อข้ามผ่านความกลัวนี้ไปให้ได้ ความท้าทายสำหรับนักดนตรีและนักร้อง คือด้วยพื้นที่ที่ห่างไกลและทำนองเพลงที่มีความนิ่งนั้น ทำให้จับจังหวะได้ยาก และต้องตีกลองคนละฝั่งให้พร้อมกัน จึงได้ปรึกษากับทางทีมเสียงของมหิดลสิทธาคาร เพื่อหาทางให้นักดนตรีมั่นใจมากที่สุด จนได้บทสรุปว่า เราจำเป็นจะต้องใส่ in ear เพื่อให้มี metronome (อัตราจังหวะ) ให้นักดนตรีและนักร้องได้ยิน ให้นับจังหวะได้ และยังสามารถนัดแนะคิวที่ตีกลองได้ง่ายขึ้นด้วย

ความภาคภูมิใจของการแสดงนี้ก็คือ เราได้อัญเชิญบทพระราชนิพนธ์ร้อยกรองในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มานำเสนอในรูปแบบที่แตกต่างออกไป ได้มีโอกาสนำศาสตร์การแสดงที่ตนเองสนใจมาสร้างสรรค์ประกอบกับดนตรีตะวันตกที่มีกลิ่นอายของท่วงทำนองจีน และยังได้มีโอกาสเรียนภาษามือที่ทำให้เราสามารถเรียนรู้คำอีกหลายคำในการสื่อสารกับผู้พิการทางการได้ยินได้มากขึ้น และทำให้เห็นว่า เมื่อนำเอาภาษามือมาใช้เพื่อสร้างสรรค์การแสดงจริง ๆ แล้ว สวยงามมาก ถ้ามีโอกาสในอนาคตก็อยากจะสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบนี้อีก เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการสื่อสารเพื่อผู้พิการทางการได้ยินผ่านศิลปะการแสดง และที่สำคัญ หวังว่าบัณฑิตทุกท่านที่ได้ชมการแสดงนี้ จะเดินหน้าแสวงหาความรู้เพื่อตนเอง และพัฒนาสังคม ประเทศชาติของเราสืบไป เพราะความรู้ไม่มีวันสิ้นสุด จนกว่าเราจะหมดลมหายใจ


(สามารถรับชมวิดีโอบันทึกการแสดง “ใจกว้างใหญ่ทั่วขอบฟ้าไท” ได้ทาง YouTube ของ Mahidol Music Channel – https://www.youtube.com/watch?v=-WVg5Y6GtHI)

Chorlada Suriyayothin

หัวหน้าสาขาวิชาการขับร้องและละครเพลง