คิงชาลส์ที่ ๓ โปรดฟังอะไร

15 Jun 2023


เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพิ่งจะมีอีเวนต์ใหญ่ระดับโลก นั่นคือพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของคิงชาลส์ที่ ๓ ซึ่งจัดขึ้น ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

ในส่วนของราชพิธี รายละเอียด และความสำคัญอื่น ๆ คงจะต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้รู้จริงจะดีกว่า

ส่วนเราก็จะขอกล่าวถึงเรื่องรสนิยมทางดนตรีของพระองค์ ซึ่งอาจเป็นอีกแง่มุมที่ทำให้เราได้รู้จักกษัตริย์องค์ใหม่จากเกาะอังกฤษพระองค์นี้มากขึ้นนั่นเอง

จากเด็กชายผู้ฝึกเล่นเชลโล สู่เจ้าชายผู้อุปถัมภ์ศิลปะ

พระองค์ส่งเสริมศิลปะมาตลอดชีวิต โดยเฉพาะดนตรีคลาสสิก ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์หรือประธานขององค์กรดนตรีคลาสสิกมากกว่า ๒๔ แห่ง มีทั้งวงออร์เคสตรา โรงโอเปร่า โรงเรียนดนตรี หรือแม้แต่บริษัทบัลเลต์ เช่น Philharmonia Orchestra, Scottish Chamber Orchestra, Bach Choir, Orchestra of the Royal Opera House, Welsh National Opera Orchestra, Monteverdi Choir & Orchestras, English Chamber Orchestra ฯลฯ ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ มีเครื่องดนตรีหลายชนิดที่ทรงเล่น ทั้งเปียโน เชลโล ทรัมเป็ต ซึ่งรสนิยมของพระองค์ก็เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเวลาหมุนผ่าน


ทรงดนตรีประเภทใด เมื่อยังทรงพระเยาว์

ทรงได้ฝึกฝนและลงมือบรรเลงทั้งเปียโน ทรัมเป็ต และเชลโล สมัยทรงพระเยาว์ แม้ว่าพระองค์จะล้มเลิกก่อนเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

“ไม่มีที่ว่างสำหรับเชลโลบนเรือราชนาวีอังกฤษ”

จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าการได้รู้จักดนตรีคลาสสิกในช่วงต้นของชีวิต ได้จุดประกายความรักในศิลปะแขนงนี้มาตลอดชีวิต

ช่วงอายุ ๑๓-๑๘ ปี พระองค์ได้เรียนที่ Gordonstoun โรงเรียนเอกชนในสกอตแลนด์ที่มีหลักสูตรดนตรี ซึ่ง Barry Cooper ศาสตราจารย์ดนตรีที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ก็ได้เข้าเรียนในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

“วิชาขับร้องประสานเสียงและออร์เคสตรา เป็นเหมือนวิชาเลือกเสรี สามารถเข้าคลาสได้แบบสมัครใจ ซึ่งก็ไม่ใช่กิจกรรมยอดนิยมของเด็กผู้ชายในโรงเรียนประจำ แต่เด็กผู้ชายหลายคนก็สามารถเล่นเครื่องดนตรีได้มากกว่า ๑ ชิ้น บางคนเล่นเครื่องดนตรีได้ถึง ๖ ชิ้น” ศาสตราจารย์คูเปอร์อธิบาย

เมื่อพระองค์ไปถึงโรงเรียน Gordonstoun ช่วงเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๖๒ ภายในปีเดียวกันก็ได้ขึ้นแสดงการขับร้องประสานเสียงในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ในเพลง Zadok the Priest เพลงสรรเสริญของอังกฤษ ซึ่งถูกใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ ๖ พฤษภาคมที่ผ่านมาอีกด้วย แม้ว่าจะทรงเป็นที่รู้จักในฐานะนักเชลโล แต่ช่วง ๒-๓ ปีแรกที่โรงเรียน ก็อยู่ในวงออร์เคสตราในฐานะนักเป่าทรัมเป็ต และร่วมแสดงคอนเสิร์ตในเพลง Slavonic Dance No. 8 ของ Dvorák, ‘Larghetto’ จากเพลง Symphony No. 2 in D Major ของ Beethoven และ Orpheus in the Underworld ของ Offenbach

ช่วงปีแรกของการเข้าศึกษาที่โรงเรียน Gordonstoun

เพลงคลาสสิกชิ้นโปรด คือเพลงไหน

ในปี ค.ศ. ๒๐๒๐ พระองค์เคยไปออกรายการ Classic FM เพื่อให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเพลงโปรด พร้อม ๆ กับนำเสนอผลงานของศิลปินที่พระองค์ทรงอุปถัมภ์

“มันเป็นฝันร้ายที่ต้องตัดทอนเพลงที่ยาว ๆ ให้สั้นลง” พระองค์ตรัสว่า ทรงหลงใหลในดนตรีคลาสสิกมายาวนาน ก่อนจะเสริมว่า เป็นคนหนึ่งที่อยู่ไม่ได้หากไร้ซึ่งดนตรีคลาสสิก ทรงรักการฟังและชมการแสดงสดในหอแสดงดนตรีอย่างมาก

การสัมภาษณ์ในครั้งนั้น พระองค์ได้พูดถึงวาทยกรร่วมสมัยที่แสดงงานของคีตกวียุคคลาสสิก อย่างการนำ ‘The Birds’ จากผลงานชุด Bridal March of the Birds ซึ่งประพันธ์โดย Hubert Parry (๒๗ กุมภาพันธ์ ๑๘๔๘ – ๗ ตุลาคม ๑๙๑๘) คีตกวีและครูดนตรีชาวอังกฤษที่คิงชาลส์โปรดปราน

พระองค์ยังชื่นชมถึงงานของ Richard Wagner (๒๒ พฤษภาคม ๑๘๑๓ – ๑๓ กุมภาพันธ์ ๑๘๘๓) คือ พรีลูดจาก Tristan และ Isolde และ Siegfried Idyll รวมถึงเปียโนคอนแชร์โตที่ประพันธ์ขึ้นโดย Nigel John Hess (๒๒ กรกฎาคม ๑๙๕๓ – ปัจจุบัน) เพื่อใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกด้วย

พระองค์ยอมรับว่า การเข้าชมคอนเสิร์ตแต่ละครั้ง สิ่งที่พระองค์ได้รับและส่งผลต่อรสนิยมทางดนตรี คือ การได้พูดคุยกับบรรดาศิลปินถึงคำแนะนำต่าง ๆ และสิ่งที่ควรฟัง

“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้ารู้สึกโชคดีอย่างมากที่ได้พบปะพูดคุยกับนักดนตรีและศิลปินแถวหน้าของประเทศ รวมถึงชมการบรรเลงของพวกเขา… ข้อดีอย่างหนึ่งของการมีสมาคมดนตรี คือ การเก็บเกี่ยวคำแนะนำดี ๆ เช่นเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ ได้รับซีดีรวบรวมผลงานของ Sir Julius Benedict (๒๗ พฤศจิกายน ๑๘๐๔ – ๕ มิถุนายน ๑๘๘๕) คีตกวีชาวเยอรมันที่มาสร้างชื่อเสียงในอังกฤษ ซึ่งยอมรับว่าไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน”

“พอได้ฟังเปียโนคอนแชร์โตชิ้นที่ ๒ ของเบเนดิกแล้ว ยิ่งทำให้รู้สึกอยากฟังมากขึ้น”

และแม้ว่าจะไม่ใช่ผลงานที่ถือเป็นงานระดับมาสเตอร์พีช แต่ก็เต็มไปด้วยท่วงทำนองอันแสนไพเราะ

นอกจากนี้ยังทรงชื่นชอบผลงานของศิลปินยุคบาโรก อย่าง Jean Marie Leclair (๑๐ พฤษภาคม ๑๖๙๗ – ๒๒ ตุลาคม ๑๗๖๔) กับงานที่ชื่อว่า Scylla et Glaucus

พระองค์ยังทรงชื่นชอบโอเปร่าอย่างมาก ซึ่งงานของเลอแคลร์ชิ้นนี้ประพันธ์ขึ้นโดยอิงมาจาก The Metamorphoses บทกวีภาษาละตินจากคริสต์ศักราช ๘ โดยกวีชาวโรมันชื่อ Ovid ที่บอกเล่าเรื่องราวความรักที่ไม่สมหวังระหว่างเทพแห่งท้องทะเลและนางไม้

ซึ่งก็อดคิดไม่ได้ว่า ที่ทรงชื่นชอบโอเปร่าเรื่องนี้เพราะคล้ายกับเรื่องราวของพระองค์กับราชินีคามิลลา ขณะที่ยังไม่ได้ครองคู่กัน

“ทุกครั้งที่ได้ยินเพลงนี้ มันทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกดีขึ้น… เป็นจังหวะและท่วงทำนองที่น่าทึ่งอย่างมาก สร้างความสนุกสนานและน่าตื่นเต้นได้อย่างเหลือเชื่อ มันเหมือนกับว่าดนตรีเหล่านี้ทำให้หัวใจกลับมาสดใสอีกครั้ง ไม่ว่าก่อนหน้านี้จะรู้สึกแย่เพียงใดก็ตาม”

“ดิสโก้” เพลงที่ทำให้ต้องลุกขึ้นมาเต้น

เพลงที่ทำให้พระองค์อดใจไม่ไหว ต้องลุกขึ้นมาเต้นก็คือ Givin’ Up Givin’ In ผลงานของ The Three Degrees วงหญิงล้วนกับงานเพลงสไตล์ดิสโก้จากยุค 70’s

“เป็นเพลงที่กระตุ้นให้ต้องลุกขึ้นมาเต้น แบบไม่อาจต้านทานได้”

นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นแฟนเพลงของ Craig David ศิลปินอาร์แอนด์บีชาวอังกฤษอีกด้วย “คุณมีผลงานชิ้นใหม่ไหม? ข้าพเจ้าชอบนะ… พระองค์มักบอกว่า …ผลงานของคุณเจ๋งมากนะ อย่าง ‘Fill Me In’ และ ‘7 Days’ ข้าพเจ้าชอบนะ แล้วผลงานใหม่ของนายล่ะ” เดวิดให้สัมภาษณ์กับ Planet Radio

วง The Three Degrees เจ้าของเพลง Givin’ Up Givin’ In ที่คิงชาลส์ที่ ๓ ทรงโปรด

เพลงโฟล์กอันโศกเศร้า

ศิลปินอีกคนที่คิงชาลส์ชื่นชอบ นั่นคือ Leonard Cohen (๒๑ กันยายน ๑๙๓๔ – ๗ พฤศจิกายน ๒๐๑๖) นักร้อง กวี และนักเขียนนวนิยายชาวแคนาดา

“เขาน่าทึ่งมาก ทั้งการประสานเสียง การเลือกใช้คำ เนื้อเพลง และทุก ๆ อย่างที่สร้างสรรค์ขึ้น” พระองค์กล่าวกับเจ้าชายวิลเลียม ขณะให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ ซึ่งเพลงที่พระองค์ชอบที่สุดคือ “Take This Waltz”

“ข้าพเจ้าพบว่าเป็นเพลงที่น่าสะเทือนใจมาก ถ้อยคำที่โคเฮนเลือกใช้นั้นน่าอัศจรรย์ ราวกับผลงานของ Salvador Dalí”

และด้วยรสนิยมดนตรีที่กว้าง ทรงโปรดตั้งแต่เพลงป๊อปจนถึงดนตรีคลาสสิก จึงส่งผลต่อเพลงที่เลือกใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์อีกด้วย

หากสนใจว่าในพระราชพิธีมีเพลงใดบ้าง สามารถฟังได้ที่เพลย์ลิสต์ Official Coronation Playlist ใน Spotify ได้

อ้างอิง

https://www.townandcountrymag.com/society/tradition/a43399168/king-charles-coronation-playlist-spotify/
https://www.classicfm.com/discover-music/king-charles-favourite-music/
https://themusic.com.au/features/king-charles-iii-favourite-songs-revealed/AtAeFBcWGRg/12-09-22
https://www.spectator.co.uk/article/king-charles-iiis-love-of-classical-music/

Krittaya Chuamwarasart

นักข่าวอิสระ