ในชีวิตหนึ่ง เราจะมีโอกาสแบบนี้สักกี่ครั้งเชียว?

31 Aug 2023

หากมองตามลำดับของการจัดงาน International Double Reed Society (IDRS) 2023 ก็ต้องย้อนกลับไปเมื่อ ๕ ปีก่อน ที่ประเทศไทยได้รับการเสนอชื่อเป็นเจ้าภาพจัดงาน เพราะด้วยความพร้อมของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะสามารถรองรับงานระดับนานาชาติได้ ประกอบกับการที่เรามีความสัมพันธ์อันดีกับอาจารย์ Yoshi Ishikawa อดีตประธาน IDRS ที่มาเยี่ยมเยือนพวกเราอยู่บ่อยครั้ง

ทว่า จุดเริ่มต้นจริง ๆ เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๕

การเกิดขึ้นของ Thailand Double Reed Society (TDRS) ซึ่งเป็นกิจกรรมค่ายดนตรีอย่างเป็นทางการของชาวเครื่องลิ้นคู่ (double reeds) นักดนตรีอาชีพ ครูดนตรี นักเรียน และผู้ที่รักในเครื่องดนตรีโอโบและบาสซูนในประเทศไทย มารวมตัวกันจัดกิจกรรมเป็นค่ายดนตรีขึ้นมาสำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบ ๑๐ ปี

การเกิดขึ้นของค่ายนี้ทำให้เกิดทีมงาน TDRS และเครือข่ายชาวเครื่องลิ้นคู่ ซึ่งนำมาสู่การเกิด IDRS ในปีถัดมา

หลังจากความสำเร็จของค่าย TDRS เกิดขึ้นได้ไม่นาน เรื่องการจัดงาน IDRS ก็เริ่มเข้ามาในวงสนทนาของพวกเรา

“ทำไมเราไม่ยกทีม TDRS ทั้งทีม เข้าไปช่วยทำงาน IDRS เลยล่ะ”

นี่คือจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่นำมาสู่การเตรียมงานที่ยาวนานหลายเดือน

ยิ่งใกล้วันงาน ปัญหาก็ยิ่งตามมา

ทั้งในแง่ของการจัดหาอาสาสมัคร เพราะงบประมาณเราไม่มากพอที่จะจ้างทีมงานได้ การคิดถึงสิทธิประโยชน์ที่จะมอบให้แก่ทีมอาสาสมัคร การดูแลทุกคนที่มาทำงาน อาหาร ที่พัก การเดินทาง ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ต้องเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการวางแผนต้อนรับผู้ร่วมงานจากทั่วโลก ทั้งอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย จีน และอีกหลายประเทศ การประสานงานกับโรงแรม การให้บริการรถรับส่ง รวมไปถึงการจัดหาบริษัทนำเที่ยว ยังไม่รวมถึงการดูแลศิลปิน ผู้ร่วมประกวดแข่งขันดนตรี ไปจนถึงร้านค้าต่าง ๆ ที่เข้ามาจัดบูธเครื่องดนตรีอีกด้วย ซึ่งตรงส่วนนี้ คงจะเกินความสามารถของผู้เขียนในตอนนี้ ต้องขอเก็บไว้สำหรับบทความในอนาคต

การทำงานของพวกเราเข้มข้นขึ้นทุกวัน

งานในระดับนานาชาติเช่นนี้ ต้องมีการวางแผนที่รัดกุม พร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ในทุกรูปแบบ สิ่งที่ยากที่สุดในมุมของทีมอาสาสมัคร คือ เรื่องจัดการคน จริงอยู่ที่ทุกคนล้วนมีใจรักที่จะมา รักในเสียงดนตรี รักในเครื่องลิ้นคู่ พร้อมที่จะลงทุนลงแรงเพื่อให้เกิดงานดี ๆ แบบนี้ขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกคนมีชีวิตเป็นของตัวเอง ส่วนใหญ่ยังเป็นนักเรียนนักศึกษากันอยู่ บางส่วนก็ทำงานแล้ว และบางคนถึงกับลงทุนบินมาจากต่างประเทศเพื่อมาร่วมงานนี้ด้วยซ้ำ เราจะดูแลทุกคนอย่างไร จะหาที่พักสำหรับคนเดินทางไกลได้ไหม อาหารกับน้ำจะพอหรือเปล่า จะสามารถจัดตารางงานไม่ให้ซ้อนทับกับกิจกรรมที่ทุกคนอยากเข้าร่วมได้หรือไม่ ทั้งหมดนี้คือโจทย์ที่เราต้องตอบให้ได้

สามเดือนสุดท้าย

ภาพที่เห็นจนชินตาคือทีมหัวหน้าอาสาสมัครจะมารวมตัวใน discord ทุกวันหลังสามทุ่ม เพื่อแลกเปลี่ยนไอเดียและวางแผนงาน แชตในไลน์ที่ถ้าไม่เปิดอ่านเกิน ๑ วันจะมีข้อความเป็นร้อย ๆ ไปเจอหน้ากันทีคือมีขอบตาดำกันทุกครั้ง เพราะนอกจากการบริหารคนในทีมอาสาสมัครแล้ว เรายังต้องวางแผนร่วมกับทีมผู้บริหารของ IDRS และเจ้าภาพฝ่ายประเทศไทยเพื่อให้งานเกิดขึ้นได้

ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานยังมีอยู่ทุกวัน เพราะช่วงเวลาที่จัดงานนี้ซ้อนทับกับการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย จะจัดห้องอย่างไรไม่ให้ไปรบกวนการเรียนการสอน เป็นโจทย์ที่สำคัญที่สุด อีกทั้งงานที่เป็นศูนย์รวมของชาวลิ้นคู่จากทั่วโลก การรักษาความปลอดภัยให้แก่เจ้าภาพ (ซึ่งก็คือทีมอาสา บุคลากร นักศึกษา) และผู้ร่วมงาน เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทั้งหมดนี้ล้วนสร้างความกดดันให้แก่ผู้จัดงานทุกคน แต่ซ้ำร้าย เรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นจนได้…

ถึงวันงาน IDRS

แม้ว่าทีมงานของเราจะก้าวเท้าออกจากบ้านด้วยความตื่นเต้น อยากจะมาร่วมงาน แต่ในใจก็ยังเต็มไปด้วยความกังวล เพราะเรื่องที่ไม่คาดฝันนั้นก็คือ จนถึงวันงาน ตารางกิจกรรมยังเปลี่ยนอยู่เลย ทั้งในเรื่องที่ศิลปินบางคนไม่สามารถเดินทางมาได้กะทันหัน พัสดุของร้านค้าที่ติดอยู่ศุลกากร ไปจนถึงการสลับสับเปลี่ยนห้องจัดงาน ฯลฯ สิ่งเดียวที่เราทุกคนทำได้คือเดินหน้าต่อไป อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ไม่ว่าจะแย่แค่ไหน ถ้าเรายังมีกันและกัน คอยสนับสนุนช่วยเหลือกันทั้งทีม เราจะผ่านมันไปได้ เราต้องทำให้ดีที่สุด

หากแต่สิ่งที่ไม่คาดฝันอีกอย่างก็ตามมา นั่นคือ…

ทุกอย่างกลับดำเนินไปได้ราบรื่น อย่างไม่น่าเชื่อ

ทันทีที่งานเริ่ม ทีมงานทุกคนกลับปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดี เพราะด้วยความที่อาสาสมัครของเรามีความหลากหลายมาก บางส่วนก็เป็นมืออาชีพในงานบริการ น้อง ๆ นักเรียนบางคนก็มีความสามารถทางภาษา ในระดับที่สื่อสารได้เหมือนเจ้าของภาษา แม้กระทั่งอาหารกับน้ำที่ตอนแรกไม่พอ พี่ ๆ หลายคนก็ไปช่วยกันจัดหามาจนได้ เรื่องสถานที่ต่าง ๆ ก็ได้รับความร่วมมือจากพี่ ๆ เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่ทุกฝ่าย พอเห็นภาพเช่นนี้ ความสับสนกังวลใจของผู้เขียนและ (เชื่อว่า) ทุก ๆ คนในทีม ก็แทบจะมลายหายไปเลยทีเดียว อย่างที่น้องในทีมอาสาคนหนึ่งได้มาแบ่งปันกัน หลังจบงานว่า

“ในตอนแรก ผมกังวลมาก ๆ ว่าจะมางานนี้ดีมั้ย เพราะเรื่องการสื่อสาร ผมไม่เก่งภาษาอังกฤษเลย แต่พอได้ทำงานจริง ก็มีพี่ ๆ ทีมงานทุกคนคอยช่วยเหลือผมตลอด จนทำให้ผมไม่กลัวหรือกังวลอีก และผมก็ดีใจมาก ๆ ที่ได้มาร่วมงานนี้ เพราะผมได้รู้จักพี่น้องและเพื่อน ๆ ที่เล่น Double Reed ด้วยกันมากขึ้น และยังได้ฟังเสียงโอโบที่ดีจากงานนี้อีกด้วย ผมสนุกมากที่ได้ทำงานร่วมกับพี่ ๆ ทุกคน คอยแก้ปัญหาไปด้วยกัน ถึงจะเหนื่อยหน่อย แต่คุ้มค่าครับ ขอบคุณที่จัดกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ขึ้นนะครับ”

ดนตรีพาเรามาเจอกัน

IDRS 2023 ในวันแรก

งานมหกรรม International Double Reed Society 2023 จัดในระยะเวลา ๕ วันเต็ม ตั้งแต่วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ถึงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๐๒๓ เราใช้พื้นที่ทั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ด้วยกันทั้งหมด ๖ อาคาร ได้แก่ อาคารภูมิพลสังคีต หอแสดงดนตรี (MACM) ตึก A ตึก D ตึก Pre College (YAMP) ตึก Museum และมหิดลสิทธาคาร

ในวันแรก กิจกรรมทั้งหมดจะเป็นการแสดงดนตรี ที่น่าสนใจคือชุดการแสดงเปิด The Sound of Siam ประพันธ์โดยคนไทยและแสดงโดยคนไทย เสมือนการต้อนรับผู้มาเยือนงานจากต่างประเทศ ด้วยสำเนียงเสียงของความเป็นไทย ให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น สบายใจ ตามต่อด้วยการแสดงจากศิลปินต่างชาติในบทเพลงที่หลากหลายยุคสมัยตลอดทั้งวัน

การแสดง The Sound of Siam โดย ณัฏฐา ควรขจร บุญฤทธิ์ กิจทวีพิทักษ์ และมรกต เชิดชูงาม

ในช่วงเย็น Evening Gala Concert กับ Thailand Philharmonic Orchestra (Thailand Phil) ภายใต้การอำนวยเพลงโดยนักโอโบระดับปรมาจารย์ หนึ่งในตำนานที่ยังมีชีวิตอยู่ Gordon Hunt ร่วมกับศิลปินระดับโลกมากมาย อาทิ Diana Doherty, Alex Klein, Alex Oguey, Weidong Wei รวมถึงเจ้าภาพของเราก็ร่วมแสดงด้วย ในคืนนั้นทุกคนได้ฟังบทเพลงคอนแชร์โตกันอย่างอิ่มหนำไปเลย ๘ บทเพลงเต็ม ๆ เชื่อว่าทุกคนกลับไปคงหลับฝันดีกับเสียงดนตรีที่ตราตรึงใจอยู่แน่นอน

การแสดง Evening Gala Concert ในคืนแรก

วันที่ ๒ กับเสียงดนตรียามเช้า

เริ่มต้นวันด้วยมาสเตอร์คลาส โดยหนึ่งในนักโอโบที่ทั่วทั้งโลกต้องการตัวมากที่สุด Diana Doherty (หัวหน้ากลุ่มโอโบของ Sydney Symphony Orchestra) ตามมาด้วย lecture และ recital เกี่ยวกับผลงานประพันธ์เพลงโดย อาจารย์ยศ วณีสอน ร่วมกับนักโอโบชั้นครูของเมืองไทย อาจารย์ดำริห์ บรรณวิทยกิจ อาจารย์ชนันนัทธ์ มีนะนันทน์ และนักดนตรีจากวง Royal Bangkok Symphony Orchestra อีกหลายท่าน ไปจนถึงชุดการแสดงและ lecture จากศิลปินต่างชาติอีกมากมาย

ส่วนของ Exhibition ที่เริ่มเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันแรก ก็มีกิจกรรม panel discussion ในหัวข้อ “Meet the Exhibitors” บนชั้น ๒ ของตึก Museum ดำเนินรายการโดย Sarah Roper ประธานคนปัจจุบันของ IDRS ที่เชิญผู้จัดนิทรรศการมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องดนตรี การทำลิ้น และเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยเปิดให้ผู้ร่วมงานได้เข้ารับชมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ผลิตด้วย

มาสเตอร์คลาสโดย Alex Klein

ในช่วงบ่าย เปิดมาด้วยมาสเตอร์คลาสของหนึ่งใน “เทพ” โอโบ Alex Klein ตามติดมาด้วยชุดการแสดงต่าง ๆ ไปจนถึงมาสเตอร์คลาสโดยซุปเปอร์สตาร์ หัวหน้ากลุ่มบาสซูนวง Vienna Philharmonic ผู้หญิงเพียงหนึ่งเดียว Sophie Dervaux ไปจนถึงการแสดงเดี่ยวปี่ใน เครื่องดนตรีลิ้นคู่ของไทย อีกหนึ่งกิจกรรมที่ถือเป็นประเพณีของ IDRS คือกิจกรรม Reading Sessions ในทุกวัน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้นักดนตรีทุกคนที่สนใจ ไม่ว่าจะอยู่ในระดับไหน มาร่วมกัน sight-reading บทเพลง chamber เล็ก ๆ กิจกรรมนี้แนะนำมาก ๆ สำหรับเด็ก ๆ ที่ไม่เคยมีโอกาสได้เล่นกับนักดนตรีเก่ง ๆ เพราะนอกจากจะได้ความสนุกแล้ว ยังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีกด้วย ก่อนจะจบกิจกรรมในช่วงค่ำของวันด้วย Evening Gala Concert: Chamber Music Event

Reading Session in session

สิ่งหนึ่งที่สร้างความแตกต่างให้การจัดงานในครั้งนี้คือ “ใจ” ทุกคนต่างสละทั้งแรงกายแรงใจ สละเวลามา โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน สิ่งนี้แสดงออกมาให้เห็นผ่านสีหน้า ท่าทาง การกระทำ และความเต็มอกเต็มใจที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ร่วมงานทุกคน จนก้าวข้ามกำแพงของภาษา กระทบไปถึงใจของผู้ร่วมงานทุกคน จนทุกคนพูดออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า

“For the past 20 years of IDRS conferences, this year volunteers are THE BEST”

นี่คืออีกหนึ่งเสียงของน้องอาสาผู้น่ารัก ที่แม้จะไม่ใช่คนลิ้นคู่ แต่ก็เต็มใจมาช่วยงาน

“ช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ได้ช่วยงานรู้สึกสนุกมากฮะ… ถึงหนูไม่ใช่คนเครื่อง double reed แต่หนูรู้สึกสนุกมากกกก ที่ได้เจอกับทุกคน ได้ช่วยงาน ได้ไปฟังศิลปินมากมาย ได้รู้จักคนมากขึ้น ตอนไปฟังมาสเตอร์คลาสก็ทำให้ได้ความรู้มากขึ้น บางอย่างหนูยังเอาไปประยุกต์ใช้กับคลาริเน็ตได้เลย แล้วหนูก็ยังได้คุยกับศิลปินหลายท่านมาก อย่างเช่น José และ Sophie ที่เจอกันบ่อย ๆ ตอนแรกหนูไม่รู้ว่าโซฟีเป็น principal bassoon ของเวียนนาฟิล เห็นว่าหน้ายังเด็ก ไม่คิดเลยว่าเขาจะเล่นเก่งขนาดนี้ พอคุยไปเรื่อย ๆ ถึงรู้ว่าทำงานอะไรนี่เอง… หนูโดนจับไปทำงานหลายที่ งานยุ่งเลยฮะ แต่พวกพี่ ๆ น่ารักกันมาก หลายคนมาจากต่างที่กัน แต่ก็ยังทำให้หนูสบายใจเวลาได้ทำงานด้วยกัน หนูเพิ่งอยู่ ม.๔ ได้ทำงานระดับโลกขนาดนี้ถือเป็นเกียรติมาก แต่ถ้าไม่มีพวกพี่สตาฟจาก TDRS หรือพี่ ๆ volunteer ช่วยสอนงาน หนูก็คงไม่รอด งานนี้สนุกและราบรื่นไปได้ก็เพราะพวกเราทุกคน มันเป็นงานที่เหนื่อยแต่สนุกมาก ๆ อยากทำอีก ถ้ามีโอกาสก็อยากจะร่วมงานกับทุกคนอีกฮะ”

ทีมงานผู้น่ารัก

วันที่ ๓ ที่ทุกคนรอคอย

ไฮไลต์สำคัญที่สุดของวันนี้ คงไม่พ้นการแข่งขัน Norma Hooks Young Artist Competition for Bassoon ที่จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2009 สำหรับผู้แข่งขันที่อายุไม่ถึง ๒๒ ปีเท่านั้น โดยแต่ละครั้งจะสลับกันระหว่างโอโบกับบาสซูน ในปีนี้ผู้ชนะคือ Javier Sanz Pascual นักบาสซูนชาวสเปน ลูกศิษย์ของ Gustavo Núñez และ Francisco Alonso ตามติดมาด้วยการแสดงรีไซทอลและกิจกรรมในแต่ละห้องนิทรรศการอย่างเข้มข้นที่สุดตั้งแต่เช้ายันเย็น ชนิดที่ว่าทีมงานต้องวิ่งกันตลอดทั้งวันไม่ได้หยุดเลยทีเดียว จนถึงช่วงมือเย็นกับกับ IDRS 2023 Dinner Reception ที่ทุกคนได้มาผ่อนคลาย

ไม่เพียงแต่คนทำงานเท่านั้นที่มาจากต่างที่ ต่างภูมิหลัง ต่างช่วงวัย ผู้ร่วมงานทุกคนก็ด้วย อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า งาน International Double Reed Society เป็นงานระดับโลกที่รวมชาวลิ้นคู่จากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาไว้ด้วยกัน ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภาษา ค่านิยม และเชื้อชาติ ย่อมนำมาซึ่งอุปสรรคในการจัดงาน ทว่าทุกคนล้วนเดินทางมาด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง ทำให้เรามีโอกาสได้เจอคนที่อายุน้อยกว่ามาก ๆ ไปจนถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการ ศิลปินระดับโลก ไปจนคนที่เล่นดนตรีเป็นงานอดิเรก แม้ว่าเราทุกคนจะต่างกันเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ เรารักในเสียงดนตรี เราหลงใหลในเครื่องลิ้นคู่ และเรามาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

สบาย ๆ กับสองศิลปิน Arnaldo de Felice และ José Antonio Masmano

น้อง ๆ หลายคนไม่เคยมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมในระดับโลกเช่นนี้ บางคนก็เขินอาย ไม่กล้าจะไปคุยกับต่างชาติ ไม่กล้าไปลองเป่าเครื่องดนตรีดี ๆ แพง ๆ ที่นำมาจัดแสดง เพราะกลัวว่าตัวเองจะเป่าไม่ดี กลัวคนจะดูถูก ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้นเลย

“ขอบคุณนะครับที่พี่ ๆ ชวนมางานนี้ ผมรู้สึกว่าเป็นงานที่ดีและสนุกมาก ๆ เสียดายที่ไม่ได้ค้างคืน ไม่งั้นคงจะสนุกกว่านี้ มาร่วมงานทุกวันไม่ได้รู้สึกเหนื่อยเลย แต่ก็กลับบ้านไปหลับสนิททุกคืน พอได้ฟังเสียงโอโบหลาย ๆ คน จากที่ไม่รู้ว่าจะชอบใคร ผมไปได้ไอดอลมาหนึ่งคนแล้วครับ งานนี้ทำให้ผมรู้จักเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ เยอะมาก จากคนที่ได้แค่ทักตอนเดินผ่าน ตอนนี้กลายเป็นเพื่อนสนิทกันหลายคนเลย… ในแต่ละบูธขายเครื่องก็ใจดีมาก ๆ ลองเครื่องจนคุ้มเลยครับ ถ้าซื้อไปนี่คงไม่ใช่เครื่องมือหนึ่ง ผ่านมาไม่รู้กี่สิบมือแล้ว (เพราะผมเองด้วยส่วนหนึ่ง)… สุดท้ายนี้ ต้องขอบคุณพี่ ๆ ที่คอยช่วยเหลือมาจนจบงาน ขอบคุณอาจารย์ติ๊กที่เป็นเฮดของงานนี้ครับ อาจารย์ติ๊กเป็นคนเข้มแข็งมาก ๆ เลย ขอบคุณประสบการณ์ที่ดี ๆ แบบนี้นะครับ”

บรรยากาศใน Exhibition ที่คึกคักทุกวัน

ความสนุกยังไม่จบแค่วันที่ ๔

เริ่มต้นวันด้วยการแข่งขัน 2023 Fernand Gilet-Hugo Fox International Competition for Oboe ที่ตั้งชื่อตามปรมาจารย์นักโอโบและบาสซูนผู้ล่วงลับ การแข่งขันนี้จัดครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๘๑ เปิดโอกาสให้นักโอโบและบาสซูน ผู้ที่อายุไม่เกิด ๓๑ ปีได้ร่วมแข่งขัน โดยสลับกันระหว่างโอโบและบาสซูน ในแต่ละปีเช่นเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นเวทีแจ้งเกิดของนักดนตรีลิ้นคู่ที่มีชื่อเสียงของโลกหลายต่อหลายคนเลยทีเดียว ในปีนี้ผู้ชนะคือ Mariano Esteban Barco นักโอโบชาวสเปน ลูกศิษย์ของ Dominik Wollenweber และ Viola Wilmsen

ตามต่อด้วยการแสดงดนตรีและมาสเตอร์คลาสอย่างเข้มข้นอีกเช่นเคย ที่น่าสนใจคือมาสเตอร์คลาสโอโบโดย Gordon Hunt และมาสเตอร์คลาสบาสซูนโดย Monica Ellis ทั้งสองท่านเป็นทั้งนักดนตรีและครูที่เก่งมาก ๆ ชนิดที่ว่าแค่เข้าไปนั่งฟังก็คุ้มแล้ว

มาสเตอร์คลาสโดย Gordon Hunt

และด้วยความที่วันที่ ๕ ฝั่งนิทรรศการจะเปิดถึงเพียง ๑๓.๐๐ น. วันนี้จึงคึกคักที่สุด เสียงดังตั้งแต่เช้าจนเลยเวลาปิดแล้วคนก็ยังแน่น เราจะได้เห็นนักดนตรีจากทุก ๆ ที่ ทุก ๆ ระดับ มาทดลองเครื่องดนตรี ทั้งลองเป่าเอง ลองฟังคนอื่นเล่น แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เราจะได้เห็นคนจากสายอาชีพอื่น ๆ ไม่ได้จำกัดแค่ในวงการดนตรีมารวมตัวกัน น้องในทีมคนหนึ่ง มีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยกับหัวหน้าฝ่ายนิทรรศการ คุณ Frank Swan ที่คอยอยู่กับพวกเราทุกวัน ทั้งวัน เช้ายันเย็น เป็นคนแรกที่มาถึง และเป็นคนสุดท้ายที่ออกจากตึกตลอด น้องเข้าไปคุยว่า ตัวเองไม่ได้เรียนดนตรีจริงจัง เล่นโอโบเป็นงานอดิเรก แต่ก็อยากจะพัฒนาฝีมือ คุณแฟรงก์จึงเล่าว่า เขาเองก็ไม่ได้เป็นนักดนตรี เขาเรียนจบวิศวะมา แต่ก็มาทำงานกับ IDRS เพราะว่ารักในดนตรีเหมือนกัน อีกทั้งยังให้กำลังใจว่าอย่าเลิกเล่นดนตรีเพียงแค่เพราะไม่ได้เรียนมา ขอให้ดูเขาเป็นตัวอย่าง แล้วพัฒนาตัวเองต่อไป

นอกจากนี้ ศิลปินและนักดนตรีระดับโลกที่เราได้พบในงาน ทั้งคนที่เราก็ติดตามผ่านโซเชียลมีเดียหรือเคยไปดูเขาแสดงคอนเสิร์ต ทุกคนล้วนมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือความรักในดนตรี เราจะเห็นดวงตาที่เป็นประกาย ยิ้มแย้มแจ่มใสในเวลาเดินชมงาน เสียงปรบมือให้กำลังใจแก่ทุกคนที่มาร่วมมาสเตอร์คลาส เสียงชม เสียงหัวเราะ และเสียงดนตรีที่ดังตลอดทั้งวันไม่หยุดหย่อน สิ่งนี้คือภาพในอุดมคติของวงการดนตรี ที่ทุกคนคอยช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมซึ่งกันและกัน ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา ระดับความสามารถ ทุกคนให้เกียรติกัน และให้กำลังใจซึ่งกันและกันเสมอ สิ่งนี้เองที่วงการดนตรีในไทยควรเอาเป็นแบบอย่างในความคิดเห็นของผู้เขียน

การแสดงโดย Baroque Band บริเวณโถงด้านหน้ามหิดลสิทธาคาร ก่อนการแสดง Evening Gala Concert

วันสุดท้ายและการปิดงาน IDRS 2023

เช้าวันที่ ๕ ของงาน IDRS 2023 เปิดมาด้วย workshop ของนักบาสซูนแจ๊สผู้โด่งดัง Paul Hanson ตามติดมาด้วยการแสดงรีไซทอลบทเพลงร่วมสมัยต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบของการผสานดนตรีเอเชีย การจัดเสียงประสานแบบสมัยใหม่ ไปจนถึงการจัดวงในรูปแบบ unconventional ต่าง ๆ มีการแสดงจากวง bassoon quartet อันมีชื่อ The Breaking Winds ไปจนถึงการแสดง Royal Fireworks Music by Mass Double Reed Ensemble ที่เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานทุกคนได้ขึ้นไปแสดงร่วมกัน

การแสดง Royal Fireworks

การแสดง Evening Gala Concert สุดท้าย ซึ่งได้รับเกียรติจาก Thailand Philharmonic Orchestra ภายใต้การอำนวยเพลงของ Gordon Hunt เป็นโปรแกรมคอนแชร์โตโดยนักดนตรีชั้นแนวหน้าของโลก ได้แก่ Yeonhee Kwak, Lyndon Watts, Inoko Isobe, Sophie Dervaux, Mariano Esteban Barco ผู้ชนะรายการ Gilet-Fox competition และ Philippe Tondre

Sophie Dervaux กับ Thailand Phil และ Gordon Hunt

เชื่อได้เลยว่าความประทับใจที่เกิดขึ้นจากการได้ฟังศิลปินชั้นนำ (และอาจเป็นไอดอลของหลาย ๆ คน) ในคืนนั้น จะยังคงตราตรึงใจทุกคนจนถึงตอนนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ทั้งตัวผู้เขียนและทีมผู้จัดงานจะไม่ลืมเลย คือ เสียงปรบมือขอบคุณอาสาสมัครทุกคน ที่ดังกระหึ่มมหิดลสิทธาคารในช่วงพิธีปิดงาน มันเป็นช่วงเวลาเพียงไม่กี่นาทีสั้น ๆ ที่ทำให้เราหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง ไม่เพียงแค่เพราะงานเสร็จ แต่เพราะมันคือ “ความสำเร็จ” ที่ได้เห็นผู้ร่วมงานทุกคนมีความสุข สนุก enjoy ไปกับมหกรรมดนตรีครั้งนี้ และเชื่อได้เลยว่างานนี้จะเป็นการปักหมุดประเทศไทยในแผนที่โลก ว่าเรามีความพร้อมและเหมาะสมที่จะจัดงานดนตรีระดับโลกเช่นนี้ได้อีก

ผู้รอดชีวิตจนปิดตึก

สุดท้ายนี้ อยากจะขอขอบคุณวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เอื้อเฟื้อสถานที่และอำนวยความสะดวกทุกอย่างให้แก่ทีมผู้จัดงาน ขอบคุณแม่แรงของเรา อาจารย์กิตติมา โมลีย์ อาจารย์ Christopher Schaub อาจารย์ Cooper Wright ผู้อยู่เบื้องหลังที่ทำให้ IDRS ปีนี้เกิดขึ้นได้ ขอบคุณ TDRS ที่ให้ผู้เขียนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่สุดยอดที่สุดเท่าที่เคยมีมา ขอบคุณอาสาสมัครทุกคนที่ทุ่มแรงกายแรงใจอย่างเต็มที่ ขอบคุณทุกคนที่มาร่วมกันทำให้สิ่งที่ยากมันเกิดขึ้นได้ และขอบคุณประสบการณ์ดี ๆ ที่เติมความเชื่อว่า วงการดนตรีนั้นมีที่สำหรับทุกคน เพียงแค่ว่าเราจะไปอยู่ตรงจุดไหนเท่านั้นเอง แล้วคุณผู้อ่านล่ะ เคยมีประสบการณ์ไหนที่ทำให้ต้องถามตัวเองไหมว่า…

“ในชีวิตหนึ่ง เราจะมีโอกาสแบบนี้สักกี่ครั้งเชียว?”

ศรัณญ์ จิระวิชฎา

นักบาสซูนอิสระ และสมาชิก Thailand Double Reed Society