สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน ช่วงวันที่ ๘-๙ ตุลาคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๖ และในช่วงท้ายของพิธีทั้งสองวัน วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอการแสดง ๒ ชุด ดังนี้ “นักร้องบ้านนอก/ชีวิตยังคงสวยงาม” และ “ฤดูที่แตกต่าง/เทิดพระนามมหิดล” โดยภาพปกของเพลงดนตรี มาจากการแสดงชุด “ฤดูที่แตกต่าง/เทิดพระนามมหิดล” แนวความคิดและเบื้องหลังการแสดงติดตามได้จาก Cover Story
Performance Practice พาผู้อ่านไปพบกับเบื้องหลังการเตรียมการแสดงที่เป็นวงออร์เคสตราเล่นกับภาพยนตร์ โดยในการแสดงนี้เป็นการแสดงของวง Thailand Philharmonic Orchestra ประกอบบทภาพยนตร์ LA LA Land การเตรียมตัวของนักดนตรีเพื่อที่จะบรรเลงสดไปพร้อม ๆ กับภาพยนตร์นั้น มีขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างไร สามารถพลิกไปอ่านด้านใน
Music Entertainment นำเสนอบทความต่อเนื่องในชุด “นักแต่งทำนองคู่บุญผู้เขียนคำร้อง” โดยในเดือนนี้นำเสนอเป็นตอนที่ ๑๖ ซึ่งจะพาผู้อ่านไปเรียบรู้เกี่ยวกับบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ อีก ๔ บทเพลง ดังนี้ สายลม (I Think of You) แสงเดือน (Magic Beams) Somewhere Somehow และ A Love Story (ภิรมย์รัก)
Music Re-Discovery มนุษย์/ดนตรี/หนังสือ ในเดือนนี้ นำเสนอเป็นตอนที่ ๑๗ โดยในตอนนี้จะพาผู้อ่านมารู้จักกับหนังสือดรุโณวาท ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีจุดประสงค์คล้ายคลึงกับราชกิจจานุเบกษา ความแตกต่างและรายละเอียดของหนังสือติดตามต่อด้านใน
Classical Guitar นำเสนอเทคนิคการบรรเลงในรูปแบบต่าง ๆ ของกีตาร์คลาสสิก เช่น สเกล (scales) การเลื่อนมือซ้าย (shifts) การทาบบาร์ (barre) สเลอร์เทคนิค (slurs) อาร์เพจจิโอ (arpeggios) เทรมโมโล (tremolo) และครอส-สตริง ทริลล์ (Cross-string trills) วิธีการฝึกซ้อมและบรรเลงเทคนิคต่าง ๆ ติดตามได้จากในบทความ
Ethnomusicology นำเสนอบทความเกี่ยวกับอิทธิพลของดนตรีสยามในพื้นที่ภาคใต้ ผ่านหลักฐานจากภาพจิตรกรรมดนตรีที่วัดท้าวโคตร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยบทความได้กล่าวถึงการเข้ามาของดนตรีสยามในภาคใต้ตั้งแต่กรุงธนบุรีจนถึงรัตนโกสินทร์ Music Did you Know? พาไปรู้จักกับ Camille Saint-Saëns หรือที่รู้จักในนาม กามีย์ แซ็งต์-ซ็องส์ คีตกวียุคโรแมนติก ที่สร้างผลงานเอาไว้มากมาย ผลงานที่มีชื่อเสียงของเขา เช่น Carnival of the Animals น่าเสียดายที่ในช่วงชีวิตของเขา ผลงานไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ผู้อ่านสามารถเข้าไปทำความรู้จักกับผลเพลงต่าง ๆ ของ Saint-Saëns ได้จากในบทความ