
สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน ช่วงวันที่ ๒๐-๒๔ พฤษภาคมที่ผ่านมา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นเจ้าภาพจัดเทศกาลนานาชาติ Thailand International Tuba Euphonium Conference 2025 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ThaiTEC ภายในงานประกอบไปด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการ การแสดงดนตรี การฝึกซ้อมและบรรเลงคอนเสิร์ต ไปจนถึงการสัมมนาเชิงวิชาการ บรรยากาศและรายละเอียดกิจกรรมในงานติดตามได้ใน Cover Story
Music Entertainment นำเสนอบทความ “ครูเพลงไทยสากลที่คนลืม” ตอนที่ ๗ ในตอนนี้นำเสนอชีวประวัติและตัวอย่างผลงานเพลงอมตะของ นาวาอากาศโท ปรีชา เมตไตรย์ (ครูปรีชาฯ) ซึ่งเป็นนักเรียบเรียงเสียงประสานให้แก่บทเพลงอมตะมากมาย ครูปรีชาฯ เป็นปูชนียบุคคลทางด้านดนตรีสากล ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติกระทรวงวัฒนธรรม เป็นศิลปินดีเด่นกรุงเทพมหานคร สาขาศิลปะการแสดง ประเภทดนตรีสากล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยในตอนที่ ๑ นี้นำเสนอบทเพลงทั้งหมด ๖ บทเพลง ได้แก่ ไทรโยคแห่งความหลัง กุลสตรี บางปะกง เสียงสะอื้นจากสาวเหนือ กุหลาบเวียงพิงค์ และสายน้ำไม่ไหลกลับ
Classical Guitar นำเสนอบทความเจาะลึกอุปกรณ์ทำเล็บสำหรับนักกีตาร์คลาสสิก โดยในบทความจะเจาะลึกเกี่ยวกับตะไบเล็บสำหรับนักกีตาร์ ซึ่งมีทั้งหมด ๖ ประเภทด้วยกัน ตะไบแต่ละประเภทมีรายละเอียดอย่างไรติดตามได้ในบทความ
Thai and Oriental Music เป็นตอนต่อเนื่องของลำดับการเรียนเพลงในการเรียนปี่พาทย์ ในตอนที่ ๔ นี้จะเป็นการเรียนครอบครั้งที่ ๕ ซึ่งจะเป็นการครอบประสิทธิเพลงองค์พระพิราพเต็มองค์ ซึ่งนิยมทำกันในพิธีไหว้ครู สำหรับทำนองบทเพลงองค์พระพิราพเต็มองค์ ติดตามได้ในตัวบทความ
Interview ฉบับนี้พาผู้อ่านมาทำความรู้จักกับอาชีพ Show Director ซึ่งเป็นอาชีพที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมดนตรี อาชีพนี้มีหน้าที่อะไรบ้าง ในงานอีเวนต์หรือคอนเสิร์ตต่าง ๆ ติดตามได้ในบทความผ่านการพูดคุยกับ พี่อาร์ต จักรพงษ์ บุญเชิด ผู้อยู่เบื้องหลังงานคอนเสิร์ตต่าง ๆ มากมาย
Music: Did you know? เป็นตอนต่อเนื่องจากเดือนเมษายน นำเสนออัตชีวประวัติของนักเปียโนหญิงชาวยิวอีกท่าน Natalia Karp ที่ชะตาชีวิตต้องผ่านค่ายกักกันชาวยิวถึง ๒ ค่าย นั่นก็คือค่าย Płaszów และค่าย Auschwitz และสามารถมีชีวิตรอดจากค่ายกักกันด้วยเสียงเพลงของ Chopin