สวัสดีผู้อ่านเพลงดนตรีทุกท่าน ขอต้อนรับผู้อ่านเข้าสู่เดือนเมษายนอันร้อนระอุ ในปีนี้อุณหภูมิของเดือนเมษายนได้พุ่งทะยานสูงขึ้นกว่าในทุก ๆ ปี เนื่องจากภาวะโลกร้อนและปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทวีปเอเชีย ภาพปกมาจากกิจกรรมในช่วงวันที่ ๓-๕ เมษายน ที่ผ่านมา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน Thailand International Brass and Percussion Conference 2024 (TIBPC) ในงานมีกิจกรรมมากมายทั้ง masterclass workshop และการแสดง จากนักดนตรีและศิลปินในวงการเครื่องเป่าลมทองเหลืองและเครื่องกระทบที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ เช่น Jason Bergman (Trumpet) Austin Larson (Horn) Darrin C. Milling (Bass Trombone) Glenn Van Looy (Euphonium) Gergely Lukács (Tuba) และ Jonathan Fox (Percussion)
Music Entertainment นำเสนอบทความ “นักแต่งทำนองคู่บุญผู้เขียนคำร้อง” ตอนที่ ๑๐ ซึ่งเป็นตอนต่อเนื่องของนักแต่งคู่บุญ ครูเอื้อ สุนทรสนาน และครูแก้ว อัจฉริยะกุล โดยในตอนนี้จะกล่าวถึงบทเพลงที่มีเนื้อร้องเกี่ยวกับสองสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ของประเทศไทย นั่นคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวอย่างบทเพลงเช่น ดาวจุฬาฯ ขวัญใจจุฬาฯ ลาแล้วจามจุรี ขวัญโดม และบทเพลงอื่น ๆ จากครูเอื้อและครูแก้ว เช่น บ้านเกิดเมืองนอน พรานทะเล ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น สามารถอ่านที่มาของบทเพลง การวิเคราะห์เพลง พร้อมทั้งฟังเพลงได้จากในตัวบทความ
Music Re-Discovery มนุษย์/ดนตรี/หนังสือ ตอนที่ ๑๔ จะไม่ได้อ้างอิงหนังสือหรือสิ่งพิมพ์เหมือนในตอนอื่น ๆ ที่ผ่านมา แต่จะบรรยายเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เครื่องเป่าทองเหลืองและเครื่องกระทบในประเทศไทย พร้อมทั้งแนะนำแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เครื่องทองเหลืองและเครื่องกระทบในประเทศไทยอีกด้วย
Music Education ให้ข้อมูลผู้อ่านเกี่ยวกับความสำคัญและจุดประสงค์ของการนิเทศการสอนสำหรับนักศึกษาในสาขาดนตรีศึกษาที่วิทยาลัย โดยนักศึกษาในสาขาดนตรีศึกษาและการสอนจะได้ไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพจากที่ต่าง ๆ เช่น โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี โรงเรียนเตรียมอุดมดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล (Young Artists Music Program) โรงเรียนจิตตเมตต์ และโรงเรียนรุ่งอรุณ
Thai and Oriental Music นำเสนอบทความเกี่ยวกับบุคลิกภาพของนักดนตรีไทย ซึ่งมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมการนั่งพื้นซึ่งมีมาแต่เดิมของสังคมไทย นอกจากนี้ยังกล่าวถึงแนวคิดในทางปรัชญาในกระบวนการเรียนการสอนดนตรีไทยกับการพัฒนาบุคลิกภาพอีกด้วย
Musicology นำเสนอที่มาของดนตรี rebetiko จากประเทศกรีซ ที่เกิดจากการผสมผสานกันของดนตรีหลากหลายสไตล์ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ โดยเริ่มจากกลุ่มคนชั้นล่าง จนกลายเป็นรากฐานให้แก่ดนตรีพื้นเมืองในประเทศกรีซในปัจจุบัน
Interview ในเดือนนี้จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ Flower.far ที่ได้เป็นหนึ่งใน ๑๐๐ ศิลปินที่น่าจับตามองจากทั่วโลกประจำปี ๒๐๒๓ ร่วมกับศิลปินทั่วโลกอีก ๙๙ ศิลปิน เช่น วง IVE, วง NewJeans, Ryan Castro, 49th & Main, 1300 และอีกมากมาย Music: Did you know? พาผู้อ่านเดินทางกลับไปยังวาระสุดท้ายของคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ Ludwig van Beethoven โดยเริ่มตั้งแต่สาเหตุของการเสียชีวิต ไปจนถึงบรรยากาศในพิธีศพ เพลงประกอบในพิธี จนไปถึงสุสานของคีตกวีเอกของโลกท่านนี้