MUSIC JOURNAL Volume 28 No.2 | October 2022

28 พ.ย. 2565

สวัสดีผู้อ่านเพลงดนตรีทุกท่าน เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ได้จัดกิจกรรม Mahidol Music Open House 2022 “เปิดบ้านดุริยางคศิลป์ เปิดประตูสู่เวทีของคุณ” เป็นการกลับมาจัดกิจกรรมแบบออนไซต์ครั้งแรกหลังจากที่จัดกิจกรรมแบบออนไลน์ไปเมื่อสองปีที่ผ่านมาในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในปีนี้มีกิจกรรมมากมายจากหลากหลายสาขา ทั้งการแสดงดนตรีสด การพาเยี่ยมชมวิทยาลัย การแนะนำการเรียนการสอน และอื่น ๆ อีกมากมาย สามารถชมภาพกิจกรรมย้อนหลังได้จาก https://www.facebook.com/mahidolmusic โดยค้นหาในเพจด้วยคำว่า #Openhouse2022

Music Entertainment นำเสนอปรากฏการณ์ “สังคีตสัมพันธ์” โดยวงดนตรีสุนทราภรณ์ เป็นตอนที่ ๓ โดยในตอนนี้ได้วิเคราะห์บทเพลงสังคีตสัมพันธ์ที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีก ๕ บทเพลง ได้แก่ ทะเลบ้า นางครวญ บ้านนา บ่อโศก และพุ่มพวงดวงใจ ในแต่ละเพลงจะมีลิงก์ยูทูบสำหรับฟังดนตรี พร้อมโน้ตเพลงประกอบ และมีบทวิเคราะห์พร้อมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับแต่ละบทเพลง

Musicology นำเสนอบทความเกี่ยวกับประเพณีบุญเดือนเก้า “ฮะมายเนิ่งนิธิ (หม้อขุมทรัพย์)” บ้านพุตะเคียน ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เกิดขึ้นใน ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ เป็นประเพณีที่ชาวไทยเชื้อสายมอญได้รับการสืบทอดมาจากความเชื่อท้องถิ่นของชาวมอญในประเทศพม่าและยังคงรักษาไว้ ความเป็นมาและขั้นตอนของประเพณีนี้ติดตามได้ด้านใน

Thai and Oriental Music นำเสนอสังคีตลักษณ์วิเคราะห์ เพลงโหมโรงกลางวัน ตอนที่ ๑ ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอองค์ความรู้ในเรื่องของเพลงโหมโรงกลางวัน ตั้งแต่ความหมายและความสำคัญของโหมโรง ไปจนถึงลักษณะต่าง ๆ ของเพลงโหมโรงพิธีกรรม ติดตามรายละเอียดได้ในเล่ม

Music Re-Discovery ในเดือนนี้ นำเสนอบทความ มนุษย์/ดนตรี/หนังสือ ตอนที่ ๔ ประวัติดนตรีล้านนา เขียนโดย ผศ.สงกรานต์ สมจันทร์ โดยประวัติดนตรีล้านนาเป็นหนังสือที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของดนตรีล้านนาตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๓๙ จนถึงปัจจุบัน

Classical Guitar นำเสนอ ๒ บทความ บทความแรกเรื่องการวางตำแหน่งมือขวาของนักกีตาร์ โดยได้อธิบายการวางตำแหน่งมือขวาของนักกีตาร์ที่เป็นแบบมาตรฐานในช่วงศตวรรษที่ ๑๖ และ ๑๗ และพัฒนาการของการวางตำแหน่งมือของนักกีตาร์ที่มีชื่อเสียงตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ ๑๙ ถึง ๒๑ ซึ่งรายละเอียดของการวางตำแหน่งมือขวาของนักกีตาร์คลาสสิกมีวิวัฒนาการอย่างไรติดตามได้ด้านใน

บทความที่สองเกี่ยวกับเทศกาลการแข่งขันกีตาร์คลาสสิกระดับโลก โดยเดือนนี้เสนอเป็นตอนที่ ๑ ในตอนแรกนี้จะแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักกับการแข่งขันกีตาร์คลาสสิกที่ประเทศเยอรมนีที่ชื่อ Koblenz International Guitar Competition “Hubert Käppel” นอกจากนี้ในคอลัมน์ The Pianist จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับนักเปียโนชื่อดังชาวไต้หวัน Pi Hsien คอลัมน์ Music: Did you know? นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ Music Ear Syndrome (MES) ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้เกิดอาการประสาทหลอนทางการได้ยิน และ Interview จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ พีท วิชญ์พล อ่อนประไพ นักร้องนำวง Lingrom (ลิงรมย์) เชิญติดตามสาระความรู้ได้ในเล่ม