MUSIC JOURNAL Volume 28 No.3 | November 2022

11 ม.ค. 2566

สวัสดีผู้อ่านเพลงดนตรีทุกท่าน เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ร่วมกับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ และค่ายเพลงชั้นนำของประเทศ Muzik Move, Smallroom, LOVEiS Entertainment, What The Duck และ Warner Music Thailand จัดการประกวดวงดนตรีสากล The Power Band 2022 Season 2 รอบชิงชนะเลิศ ภายใต้แนวความคิด Dream it, Do it กล้าฝัน กล้าทำ การประกวดในปีนี้มีการเพิ่มรอบออดิชันใน ๕ จังหวัด ดังนี้ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสงขลา และกรุงเทพมหานคร เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สมัครจากทั่วประเทศมาแสดงความสามารถทางดนตรีกันอย่างเต็มที่ การประกวดแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท ดังนี้ ระดับมัธยมศึกษา (Class A) ระดับบุคคลทั่วไป (Class B) และประเภทดนตรีสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัด (Class C) ซึ่งวงที่ชนะการประกวดในแต่ละประเภท ได้แก่ วง ‘มอซอ’ จากโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ จังหวัดภูเก็ต (Class A) วง ‘Jazz Passion’ จากกรุงเทพฯ (Class B) และ วง ‘Solar System Band’ จากจังหวัดเชียงใหม่ (Class C) สามารถรับชมการแสดงย้อนหลังได้ที่นี่ bit.ly/3AIGqAF

Music Entertainment นำเสนอปรากฏการณ์ “สังคีตสัมพันธ์” โดยวงดนตรีสุนทราภรณ์ เป็นตอนที่ ๔ ซึ่งจะเป็นตอนสุดท้ายสำหรับหัวข้อนี้ โดยในตอนนี้ได้วิเคราะห์บทเพลงสังคีตสัมพันธ์ที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีก ๕ บทเพลง ได้แก่ รักสลาย ผู้ชายนะเออ ลาวดวงดอกไม้ ทำนายฝัน และรักบังใบ ในแต่ละเพลงจะมีลิงก์ยูทูบสำหรับฟังดนตรีพร้อมโน้ตเพลงประกอบ และมีบทวิเคราะห์พร้อมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับแต่ละบทเพลง

Thai and Oriental Music นำเสนอสังคีตลักษณ์วิเคราะห์ เพลงโหมโรงกลางวัน ตอนที่ ๒ ซึ่งในตอนนี้นำเสนอความเป็นมาและการวิเคราะห์บทเพลงที่สำคัญสามบทเพลง คือ เพลงตระสันนิบาต เพลงเสมอ และเพลงเสมอข้ามสมุทร ติดตามรายละเอียดได้ในเล่ม

Music Education นำเสนอบทความเกี่ยวกับการสอนดนตรีสำหรับเด็กพิเศษ โดยมีการแนะนำการจัดกิจกรรมในชั้นเรียนที่เหมาะสมสำหรับเด็กพิเศษ เพื่อช่วยในด้านพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจสำหรับเด็กกลุ่มนี้

Music Re-Discovery ในเดือนนี้ นำเสนอบทความ มนุษย์/ดนตรี/หนังสือ ตอนที่ ๕ โดยหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับอัตชีวประวัติของ ร.อ. เมย์ เอื้อเฟื้อ หรือเมย์อนุสรณ์ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ดนตรีตะวันตกของประเทศไทย เป็นผู้บุกเบิกการบรรเลงเครื่องสายตะวันตกในประเทศไทย

Classical Guitar นำเสนอ ๒ บทความ บทความแรกเกี่ยวกับวิวัฒนาการของท่านั่งและการถือกีตาร์ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๘ จนถึงช่วงต้นศตวรรษที่ ๒๑ โดยอ้างอิงจากตำราของนักกีตาร์ที่มีชื่อเสียงในแต่ละยุคสมัย

บทความที่สองเกี่ยวกับเทศกาลการแข่งขันกีตาร์คลาสสิกระดับโลก โดยเดือนนี้จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับการแข่งที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศอิตาลี “Michele Pittaluga International Classical Guitar Competition” จัดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๖๘

นอกจากนี้ในคอลัมน์ The Pianist จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับนักเปียโนเชื้อสายยิว ชาวรัสเซีย ที่มากด้วยความสามารถอย่าง Evgeny Kissin คอลัมน์ Music: Did you know? นำเสนอผลงานที่นอกเหนือจากการประพันธ์เพลงของนักแต่งเพลงชาวรัสเซียชื่อดัง Sergei Sergeyevich Prokofiev ซึ่งนอกจากผลงานด้านดนตรีแล้วยังมีงานเขียนที่ประสบความสำเร็จด้วยเช่นกัน และ Interview จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับยาหยี พัทธมน พรหโมปการ นักร้องนำวง I Hate Monday เชิญติดตามสาระความรู้ได้ในเล่ม