พูลิม – ณิชกานต์ แก้วอินธิ

21 ก.ย. 2566


สวัสดีครับเพื่อนๆ ที่ติดตามคอลัมน์ Interview วันนี้เราจะไปคุยกับน้องพูลิม ณิชกานต์ แก้วอินธิ นางเอกจากละครเวทีสุนทราภรณ์ The Musical เพลงรักเพลงแผ่นดิน โดย เพลงเอก และยังเป็นศิษย์เก่าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาละครเพลง อีกด้วย

แนะนำตัวหน่อยครับ

สวัสดีค่ะ ชื่อพูลิม ณิชกานต์ แก้วอินธิ เป็นศิษย์เก่าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาละครเพลง ปัจจุบันเป็นนักแสดงอิสระ เป็นคุณครูสอนร้องเพลง แล้วก็เป็นศิลปินสังกัด Workpoint Entertainment ค่ะ

ละครเวทีสุนทราภรณ์ The Musical เพลงรักเพลงแผ่นดิน โดย เพลงเอก อยากให้เล่าให้ฟังว่า การที่ได้เล่นละครเรื่องนี้ ตั้งแต่ครั้งแรกจนมาถึง Restage เป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไรบ้าง อย่างแรกเลยรู้สึกดีใจค่ะ เพราะเรียกได้ว่าเป็นละครเรื่องแรกที่เราได้รับบทเป็นตัวหลักตัวเดียวเลย คือปกติจะได้รับบทเป็นตัวประกอบค่ะ พอได้รับบทที่เราจะต้องเล่นบทเดียวทั้งเรื่อง ก็รู้สึกว่าท้าทายค่ะ ต้องทำการบ้านหนักมาก ๆ ในเรื่อง background ตัวละคร เพราะว่าเราแสดงเป็นบุคคลที่มีชีวิตจริง มันก็เลยจะค่อนข้างยากในการสร้าง character เราจะสร้างตามใจตัวเองไม่ได้ เราต้องอิงจากชีวิตจริงด้วย ต้องศึกษาหาประวัติข้อมูลต่าง ๆ ค่ะ เรื่องนี้ก็เลยเป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกว่าได้พัฒนาตัวเองในด้านการแสดงไปได้เยอะเลย และก็คือเป็นอะไรที่แปลกใหม่มาก ๆ เพราะว่าคนดูของเราส่วนใหญ่จะเป็นคนวัยทำงานไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ แล้วพอเราแสดงไป เรารู้สึกว่าเป็นละครที่คนดูสามารถ enjoy กับเราได้ คือปกติละครเวที คนดูจะอยู่ในส่วนของคนดู เราก็จะอยู่ส่วนเรา แต่อันนี้เหมือนเขาได้เข้ามา enjoy กับเรา และเราก็ได้รับมวลพลังของเขามาในการแสดงด้วยค่ะ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับดีมาก ๆ จนมีการ Restage ตอนนี้คือไปไหนคนจะไม่ค่อยทักพูลิมแล้ว แต่เขาจะทักว่าคุณอาภรณ์ คุณอาภรณ์ เพราะว่าเรารับบทเป็นคุณอาภรณ์ สุนทรสนาน เป็นภรรยาของครูเอื้อ เป็นตัวหลักของเรื่องนี้

ความแตกต่างระหว่างก่อนกับหลัง Restage

สำหรับกระแสตอบรับก็ยังดีเหมือนเดิมค่ะ แต่ถ้าว่ากันในด้านการแสดง จะรู้สึกว่าเราเข้าเนื้อขึ้น เหมือนพอเราผ่านไปสักระยะหนึ่ง เราก็จะมีความเข้าใจกับตัวละครมากยิ่งขึ้น พอได้มา Restage ก็รู้สึกว่า เออ เราเล่นแล้วเรามีมิติมากขึ้น

ก่อนที่จะได้รับบทเป็นอาภรณ์ เป็นภรรยาของครูเอื้อ สุนทรสนาน เราต้องทำการบ้านขนาดไหน มีการคุยกับญาติพี่น้องของเขาหรือไม่ ศึกษาอะไร อย่างไรบ้าง

ตอนแรกที่ไปแคส คือไปแบบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับคุณอาภรณ์เลย เราเป็นคนสุดท้ายที่เขาเรียกมาแคส เพราะก่อนหน้านี้จะมีดาราหลายคนมาก ๆ ที่เข้ามาแคส เราเป็นคนสุดท้ายที่ได้เข้ามา พอเขาลองเอาบทมาให้เราเล่น เราก็เล่นจากความเข้าใจ ณ ตอนนั้น ที่เราได้บทมาคือคุณอาภรณ์จะเป็นคนไม่ค่อยออกสื่อค่ะ เป็นคนธรรมดา ก็คือจะหาข้อมูลยากมาก ๆ ในการจะแกะท่าทางอะไรต่าง ๆ แต่ว่าก็ได้คุยกับแม่อี๊ด ป้าอี๊ด [อติพร (สุนทรสนาน) เสนะวงศ์] ซึ่งเป็นลูกสาวของคุณอาภรณ์และครูเอื้อ ก็ได้รับคำแนะนำมาว่า คุณอาภรณ์ เป็นคนเรียบร้อยนะ เป็นแม่บ้านแม่เรือน ซึ่งสำหรับตัวหนู หนูคิดว่ายากมาก ๆ ในการรับบทนี้ เพราะว่าด้วยบุคลิกของเรา เราเป็นคนที่ออกจะผาดโผน แบบว่ากระฉับกระเฉงหน่อย แต่พอได้มาเล่นบทเป็นคนเรียบร้อย ใครว่าเล่นเรียบร้อยง่าย ไม่จริงเลยค่ะ ยากมาก ๆ ก็เลยต้องหาข้อมูลจากญาติพี่น้องเขาด้วย

เริ่มรู้จักกับดนตรีอย่างไร

จริง ๆ แล้วเป็นคนที่ชอบร้องเพลงตั้งแต่เด็กเลยค่ะ และก็ชอบการแสดงมาก ๆ ด้วย ตอนเด็ก ๆ อยากเป็นนักแสดงมากกว่าจะเป็นนักร้อง ศิลปิน แต่พอเราได้ร้องเพลงไปด้วย ก็เลยรู้สึกชอบ ตอน ม.๖ คือตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกเรียนดนตรีอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ตอนแรกสอบติดครูไปแล้ว แม่ก็บอกว่าอยากให้เป็นครูที่ราชภัฏค่ะ แม่อยากให้เป็นข้าราชการ เพราะครอบครัวเป็นข้าราชการทั้งบ้านเลย แม่ก็บอกว่ามั่นคงนะ แต่เราก็ยึดมั่นในความชอบของตัวเอง แล้วก็ลองหาข้อมูลดูว่ามีที่ไหนบ้าง จนมาเจอสาขาละครเพลงที่มหิดล ตอนนั้นยังไม่รู้จักว่าละครเพลงคืออะไร แต่ว่ารู้จักเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ผ่านทีวี เราเป็นเด็กต่างจังหวัด ก็เลยไม่มีโอกาสที่จะได้มาดูละครเวทีสักที

การเตรียมตัวสอบเข้าวิทยาลัยดนตรี

ตอนนั้นเหมือนเริ่มนับหนึ่งใหม่ ทฤษฎีดนตรีอะไรก็ไม่รู้จัก ไม่รู้จักอะไรสักอย่างหนึ่ง คือเกิดมาทั้งชีวิตรู้แค่ว่าชอบร้องเพลง ร้องไปแบบงู ๆ ปลา ๆ ไม่ได้เรียนด้วย ก็เลยต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ แล้วก็ลองหาข้อมูลดู ก็ไปเจอสถาบันสอนทฤษฎีดนตรี คอร์สคือจะประมาณ ๑-๓ เดือน เนื่องด้วยความที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัดใช่ไหมคะ เราจำได้ว่าเราขอเข้ามากรุงเทพฯ แล้วเรียนอัดภายใน ๕ วัน อัดทฤษฎีดนตรีภายใน ๕ วัน อัดพื้นฐานที่เราต้องไปสอบภายใน ๕ วัน คือมันต้องหาที่อยู่เพื่อมาเรียน เราก็อยู่นานไม่ได้ เพราะค่าใช้จ่ายเยอะ ก็เดินทางมากับพ่อ มาพักกันที่โรงแรมด้วยกัน ๒ คน แล้วก็เรียนอัด จำได้ว่าประมาณ ๙ โมงเช้าไปจนถึง ๒ ทุ่มค่ะ หัวสมองแบบตึ้บมาก ทั้งทฤษฎีดนตรีและก็ฝึกร้องเพลงด้วย ตอนนั้นก็ให้คุณครูที่รู้จักแนะนำว่าละครเพลงมีเพลงประมาณไหนบ้าง

การสนับสนุนของพ่อแม่

สนับสนุนทุกอย่างค่ะ แต่ในใจลึก ๆ เขาก็อยากให้หนูเรียนครู เขาบอกว่า ถ้าเรียนครูนะ จะซื้อรถให้เลย จะเอาโน่นเอานี่ให้ หนูไม่เอา จะมาสอบที่มหิดลให้ได้ เขาก็บอกโอเค ถ้าสอบติดก็จะให้เรียน

ทำไมเลือกที่จะไม่เอารถ แล้วมาสอบเข้าดนตรี

ตอนนั้นหนูรู้สึกว่าหนูต้องอยู่กับมันทั้งชีวิต หนูเลือกที่จะเอาแบบสิ่งที่หนูชอบดีกว่า เอาอะไรที่หนูรู้สึกว่าทำได้เรื่อย ๆ ตลอดชีวิตดีกว่า เพราะว่าเป็นครู หนูมองภาพตัวเองในอนาคตไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร

ทำไมต้องเป็นสาขามิวสิคัลเธียเตอร์

อย่างที่บอกค่ะ หนูชอบเล่นละคร อยากเป็นนักแสดงตั้งแต่เด็ก แล้วสาขานี้มันตอบโจทย์ เพราะเราไม่ได้อยากแค่ยืนร้องเพลงเฉย ๆ เราชอบการแสดง ชอบเต้นด้วย อะไรอย่างนี้ค่ะ เหมือนเราชอบทุกอย่างที่เป็นการแสดง เราก็เลยเลือกสาขานี้

ทำไมต้องเป็นดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ความที่เราไม่รู้อะไร ที่บ้านก็เป็นคนต่างจังหวัด เราก็ไม่รู้หรอกว่าที่กรุงเทพฯ มีอะไรบ้าง แม่ก็บอกว่า มหิดลคืออันดับ ๑ ด้านดนตรี ถ้าจะเข้า ต้องเข้ามหิดลเท่านั้น เราก็เลยตั้งใจมามหิดลเลย

มาสอบรอบแรกผ่านเลยไหม

สอบได้ตั้งแต่รอบแรกค่ะ ได้ตั้งแต่รอบแรกเลยที่มา จำได้ว่าได้คะแนนการปฏิบัติ ๙๘ คะแนน เต็ม ๑๐๐ คะแนน แต่สอบทฤษฎีดนตรีตอนนั้นคือเป็นอะไรก็ไม่รู้ เบลอมาก หนูได้ทฤษฎี ๕ คะแนน เต็ม ๑๐๐ คะแนน แล้วก็ Ear training ได้ ๓๖ คะแนน เต็ม ๑๐๐ คะแนน จำได้เลย เพราะว่าตอนที่เรียน หนูเรียนของอาจารย์ที่ศิลปากร แล้วก็ไปสอบศิลปากรมา ข้อสอบศิลปากรหนูรู้สึกว่ามันง่ายสำหรับหนู แต่พอมามหิดล เห็นข้อสอบครั้งแรก หนูอึ้งว่ามันคืออะไร ทำไม่ได้สักข้อ ทำไม่ได้เลย

พอได้มาเรียนที่นี่แล้ว เป็นอย่างไรบ้าง รู้สึกอย่างไร ใช่อย่างที่เราชอบไหม เพื่อน สังคม ดนตรี

ตอนแรกอยู่กับเพื่อนคนหนึ่งเป็นรูมเมทกัน แต่ไลฟ์สไตล์ไม่ตรงกัน คือจำได้ว่าเข้ามาตอนแรก เรามาอยู่หอ เข้ากับเพื่อนไม่ได้เลย เคยโดนแบนด้วย หรืออย่างเพื่อนในสาขาเดียวกัน สาขาเธียเตอร์ คือเข้ามาแล้วเราเป็นเด็กต่างจังหวัด แต่เพื่อนเป็นคนเมืองหมด การใช้ชีวิตมันต่างกัน เข้ามาในช่วงแรกจะเข้ากับใครไม่ได้ ต้องไปอยู่กับอีกกลุ่มหนึ่ง กลุ่มเอ็นเตอร์เทน และก็มีแต่ผู้ชาย ปรับตัวอยู่พักใหญ่กว่าจะมาจูนกันติด ในสำหรับส่วนของเพื่อนนะคะ ซึ่งทุกวันนี้ก็รักกันดีแล้ว กลมเกลียวกันแล้ว แต่ว่าเรื่องของการเรียนก็มีหนักหนา เรารู้สึกว่าหนักตรงทฤษฎีและ Ear Training เรื่องการเรียนปฏิบัติรู้สึกว่าแฮปปี้ดี มาอยู่นี่เราได้แอคทีฟและเราก็พยายามเพื่อให้ได้มาอยู่ข้างหน้า ๆ เวลาที่จะมีงานแสดงอะไร เขาจะนึกถึงเรา เหมือนเราก็ต้องถีบตัวเองหน่อย เพื่อจะให้ได้มาแสดงละครเวทีของมหาวิทยาลัย ของสาขา การแสดงต้องมีการออดิชันกันอยู่แล้ว เราก็พยายามที่จะผลักดันตัวเอง

การเริ่มทำงานที่เมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์

พอเข้าไปทำงานจริง ๆ ไม่เหมือนกับในคณะ เราได้ไปเจอสังคมที่โตกว่า จริงจังกว่ามาก แล้วทุกคนจะมีความอยาก อยากที่จะเล่น มีความสุขที่จะเล่น ไม่เหมือนที่มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบางคนเรียนก็คือเรียนแค่นั้น ไม่ได้มีความแอคทีฟ พอเราได้ไปอยู่ก็เหมือนได้ซึมซับ ได้ประสบการณ์แบบที่ไม่เคยได้ทำมาก่อน ช่วงตั้งแต่ปี ๓ ถึงปี ๔ เล่นไปทั้งหมด ๓ เรื่อง มีเรื่อง Still on my mind บัลลังก์เมฆ และสี่แผ่นดิน

ทั้ง ๓ เรื่องนี้ เรื่องไหนมีความท้าทายตัวเองมากที่สุด

น่าจะเรื่องสี่แผ่นดิน เพราะว่าตอนเล่นต้องเล่นเป็นเด็ก เด็กที่มีจริตจะก้านหน่อย แล้วก็เล่นเป็นคนยุคนั้น เราก็ไม่รู้ว่าจริตจะก้านของคนยุคนั้นเป็นอย่างไร น่าจะเหมือนแก่แดดหรือว่าโตเกินวัยอะไรอย่างนี้ค่ะ เราก็เล่นไป เคยโดนพี่บอย (ถกลเกียรติ วีรวรรณ) ดุ ถึงขั้นร้องไห้ ตอนแรกคือเขาก็เดินมาคุยด้วยว่า พูลิม เล่นเรียบร้อยไป อยากได้แบบแรด ๆ เลย แบบเด็กแรด เราก็แบบว่าโอเคค่ะ เดี๋ยวหนูไปทำให้ แต่ก็ยังมีกรอบของเด็กในยุคนั้น จนตอนที่ซ้อม ตอนนั้นนั่งคอมเมนต์กัน แล้วเขาพูดนั่นแหละ โดนดุ แล้วก็ร้องไห้ ทุกคนก็มาปลอบ บอกเราเล่นแบบเรียบร้อยมากเลย อยากได้แบบเด็กแรด เด็กแรดอะไรอย่างนี้ (พี่บอยเขาพูดอย่างนี้เลย – ผู้เขียน) ใช่ค่ะ ไม่ได้ พูลิมเล่นเป็นห้วง ๆ แล้วแบบเล่นจังหวะช้า ตอนนั้นเราก็แบบช้าอย่างไร หนูก็ว่าหนูเล่นได้อยู่นะ เราไม่เข้าใจว่าช้าอย่างไร คือเหมือนเขาพูดไปแล้ววินาทีหนึ่ง แล้วหนูค่อยพูดอะไรอย่างนี้ มันก็คือการเทคไทม์ ตอนนั้นก็คือไม่เข้าใจ กลายเป็นว่าเราไม่เข้าใจการแสดงไปเลยว่าจะต้องทำอย่างไร (กลัวเลยหรือเปล่า – ผู้เขียน) ตอนนั้นยอมรับว่ากลัวค่ะ จำได้เลย วันนั้นเป็นวันศุกร์ และช่วงวันเสาร์ วันอาทิตย์ ทุกคนคือแบบพี่ ๆ ทีมงานถาม พูลิมเป็นอย่างไรบ้าง โทรมาให้คำแนะนำกันหลายคนมาก ตอนนั้นรับโทรศัพท์หลายสายมาก พี่ ๆ โทรมาให้กำลังใจ แล้วก็โทรมาแนะนำว่าให้เล่นประมาณนี้ แบบนี้ ๆ นะ เราก็เลยลองไม่สนใจเรื่องยุคสมัยแล้ว แรดก็คือแรดอะไรอย่างนี้ค่ะ แล้วเราก็เล่นได้

ความประทับใจที่มีต่อละครเพลง

ประทับใจมาก ๆ ค่ะ รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว คือตอนนี้อะไรก็ได้ ขอแค่ได้เล่นละครเวที ไม่เคยรู้สึกว่าไม่อยากไปซ้อม ทุก ๆ เรื่อง เรารู้สึกว่าอยากตื่นแล้วไปซ้อม เพราะว่าคือความสุข เหมือนว่าเราเลือกมาถูกมาก ๆ จากวันแรกที่เราไม่รู้จักจนได้มาอยู่ตรงนี้ เหมือนมันคือความสุขไม่กี่อย่างในชีวิตของเรา ยิ่งตอนโควิด ๓ ปีที่ไม่ได้เล่นละครเวทีเลย ยิ่งทำให้รู้สึกว่านี่แหละคือชีวิตของเรา ที่ประทับใจคือของสุนทราภรณ์ หนูรู้สึกว่าทั้งอองซอมเบิลและตัวหลักเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน แล้วผู้กำกับหรือผู้ช่วยและทีมงานทุกคนก็เข้าถึงง่าย คือทุกคนปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันหมด เหมือนมีอะไรพี่ ๆ เขาก็จะเปิดกว้าง ให้เราไปคิดก่อน พอมีอะไรพี่เขาก็จะค่อย ๆ เสริม ไม่ได้เร่งรัดที่จะต้องได้ ต้องได้ ณ ตอนนั้น

ตอนที่เรียนไปด้วย แสดงไปด้วย รู้สึกอย่างไร

ตอนที่เรียนและแสดงด้วย คือ ต้องจัดการเวลามาก ๆ เลยค่ะ ทั้งต้องไปคุยกับทางคุณครู ขอออกก่อนเวลาได้ไหม เพื่อที่จะไปรัชดาลัย แล้วก็ต้องบอกทางรัชดาลัยอีกว่า ขอไปสายได้ไหม เพราะออกจากห้องเรียนเวลาเท่านี้ เหมือนกับต้องจัดการวางแผนเรื่องเวลามาก ๆ


การเริ่มต้น เพลงเอก ซีซั่น ๒

ช่วงก่อนโควิดนิดหนึ่ง ช่วงเล่นละคร ปี ๔ ก็โควิดแล้ว มีรุ่นพี่ส่งใบสมัครมาในกลุ่ม “เพลงเอก” ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่า “เพลงเอก” คืออะไร เพราะมีแค่ว่าส่ง “เพลงเอก” ใครสนใจ ส่งเพลงลูกกรุงไปสัก ๒-๓ คลิป เราก็แบบว่าง ก็เลยลองส่งไปดู ไม่มีอะไรเสียหาย ตอนนั้นเราเอาเพลงที่เราพอรู้จักส่งไป ก็ไม่คิดว่าจะติด แต่ก็ได้ แล้วเขาก็ทักมาขอประวัติ ขอให้ร้องเพลงมาอีก ๑๐ เพลง ตอนออดิชัน ต้องส่งไปทีละ ๑๐ เพลง แล้วก็ส่งไปจนได้เข้าไปในรอบเปิดม่านนั่นแหละค่ะ คือตอนแรกจะไม่ออดิชันแล้ว คือทิ้งช่วงนานมาก ๆ ค่ะ คือเดือนหนึ่งเขาตอบมาครั้งหนึ่ง เราคิดว่าคงไม่ได้แล้ว และอยู่ดี ๆ ก็ตอบมาว่า ส่งเพลงนี้ให้หน่อยนะ ระยะเวลาในการออดิชันหลายเดือนมาก กว่าเขาจะตอบ เราลืมไปแล้ว หรือคิดว่าเขาคงไม่เอาเราแล้ว ครั้งสุดท้ายออดิชันออนไลน์ ตอนนั้นตัดสินใจไม่เอาแล้ว ไม่อยากออดิชันแล้ว แต่แม่ก็ขอไว้ ออดิชันเถอะลูก ไหน ๆ ก็มาถึงจุดนี้แล้ว ก็ติดไปในรอบ ๑๐๐ คน ตอนนั้นก็แข่งไปเรื่อย ๆ ตอนรอบเปิดม่านเราก็ยังไม่ได้อะไร จนแข่งต่อไปเรารู้สึกว่าเข้าไปได้เรื่อย ๆ ก็เลยเริ่มจริงจังมากขึ้นในการซ้อม เรานึกว่าคนที่มาแข่งร้องเพลงลูกกรุงจะมีแต่คนโต ๆ สรุปว่าเป็นวัยรุ่นหมด เราก็เลยรู้สึกสนุกในการแข่ง

การรับมือกับสถานการณ์ Negative Comment

ก็ระบายกับเพื่อน เพื่อนก็จะมาแบบ มาจัดการให้ บางคนก็จะบอกว่าเดี๋ยวก็ชิน มันเป็นอย่างนี้แหละ พี่ก็โดน ไปถามพี่ ๆ เพลงเอก เขาก็โดนเหมือนกัน มันทำอะไรไม่ได้เพราะว่าเราเป็นบุคคลสาธารณะแล้วตอนนั้น พอได้มาทำงานเพลงลูกกรุงก็เหมือนต้องมาเริ่มใหม่ เหมือนเราเป็นศิลปินฝึกหัดเลยก็ว่าได้ พอเราจะไปร้องเพลงที่ไหน เราก็ต้องมาฝึก มันไม่เหมือนเพลงป็อปที่ฟังแล้วก็เอาไปร้องได้เลย แต่เพลงลูกกรุงได้แต่ละเพลงมาต้องมาฝึกอีกว่าร้องอย่างไร มันยาก คุมลมอะไรอย่างนี้ค่ะ ก็ไม่คิดว่าจะมาสายงานนี้เหมือนกัน

เพลงที่ยากที่สุดในการแข่งขัน

ตอนแข่งจะมีรอบหนึ่ง รอบ ๑๒ คนสุดท้าย โจทย์เพลงช้า คือตอนที่หนูแข่ง หนูก็จะโดนคำคอมเมนต์ตลอดว่า ติดร้อง ติด acting แบบละครเวที ติดอยู่กับตัวเองอยู่ในโลกของตัวเอง เหมือนเป็นการร้องเล่นละครเวที ไม่ได้เป็นการร้องแบบศิลปินร้องส่งคนดู เหมือนกับละครเวทีเวลาเราร้องเราจะต้องหาจุดโฟกัส และก็มองตรงนั้นอย่างเดียว พอกลายเป็นศิลปินเราจะต้องร้อง มอง สื่อสารกับคนดูด้วย ครูแหม่ม (พัชริดา วัฒนา) ก็บอกว่า พูลิมเหมือนมีโลกของตัวเองอะไรก็ไม่รู้ ต้องสื่อสารออกมา ครูแหม่มให้มายืนอยู่ตรงนั้น แล้วก็ให้ร้องเพลงไป เหมือนพูลิมต้องมีคนรีแอคนะ ร้องเพลงก็มองหน้ากรรมการ ดูรีแอคกรรมการ โจทย์เพลงตอนนั้นก็ค่อนข้างยาก เป็นโจทย์ที่เหมือนเรารักเขา แต่เราก็เกลียดเขา เพลงขาดเธอฉันไม่รู้สึก เป็นเพลงที่ฉันไม่แคร์เธอแล้ว เธอทำฉันเสียใจ คือต้องสื่ออารมณ์สุด ๆ แล้วเราต้องทำการบ้านหนักมาก ตอนนั้นเครียด ในรอบซ้อม คนที่มาแข่งทุกคนเขาก็จะไม่ได้มากั๊กกัน ทุกคนจะเห็นกันหมดเลย ใครร้องเพลงอะไร อย่างไร เหมือนตอนรอบซ้อม เราร้องแล้วเราเกร็งมาก เกร็งจนทุกคนรู้เลย ทุกคนที่เข้าแข่งขันรู้เลยว่าเราเครียด แต่เพลงเอกดีอย่างหนึ่งเป็นแบบครอบครัว เขาไม่ได้มาคิดจะแข่งอะไรอย่างนี้ มีอะไรพี่ ๆ เพลงเอกเขาจะช่วยหมดเลย เขาช่วยตอนเราเครียด แบบไม่ต้องเครียด ลองทำอย่างนี้สิ ลองอารมณ์อย่างนี้ ไม่ต้องเครียด ปล่อยไปเลย พอวันที่แข่ง เราก็ทำได้ ตอนนั้นกรรมการชอบมาก กรรมการก็บอกว่านี่คือสิ่งที่อยากเห็น เป็นสิ่งที่พูลิมทำได้แล้ว เป็นศิลปินแล้ว ตรงนั้นเราก็รู้สึกโล่งใจ และก็เริ่มเข้าใจการเป็นศิลปินว่ามันคืออย่างนี้ ไม่เหมือนกับการเป็นนักแสดง

การนำสิ่งที่เรียนมาปรับใช้

หนูรู้สึกว่ามันปรับใช้ได้ในด้านอารมณ์ค่ะ ด้านเทคนิคการร้องคือไม่เหมือนกันเลย ระหว่างร้องละครเพลงกับร้องสุนทราภรณ์ ไม่เหมือนเลย สุนทราภรณ์คือใช้ลมเยอะมาก ละครเพลงคือการพุ่งตรง ๆ ร้องไปตรง ๆ แต่พวกลูกกรุงต้องมี dynamic ซึ่งหนูเป็นคนร้องตรง ร้องแบบละครเพลงเลย พอจะมาร้องลูกกรุง ปรับยากมาก ทำอย่างไรให้ฉันร้องเบาลง ทำอย่างไรถ้าต้องใช้ลมแบบนี้

อนาคตต่อจากนี้

อนาคตอยากลองเล่นละครทีวีดูบ้างค่ะ เพราะตอนนี้ละครเพลง complete แล้ว คือดวงหนูไม่ได้หรืออย่างไรก็ไม่รู้ ตอนเรียนมีโอกาส มีคนติดต่อเข้ามาว่าจะให้ไปเล่นซิทคอม ให้ไปเล่นซีรีส์ แต่ก็มีอะไรมาทำให้เราไปไม่ได้ อย่างเช่นติดสอบหรือติดซ้อมละครบัลลังก์เมฆอยู่ ตอนนั้นช่อง ONE31 ก็ติดต่อมาว่าอยากให้ไปเล่นรับเชิญในซิทคอมตอนหนึ่ง เราก็บอกว่าเรามีละครค่ะ เขาก็ไม่อยากยุ่งกับตารางพี่บอย ฉะนั้นเอาไว้ก่อน หรือมีติดต่อมาให้เล่นซิทคอมอีก ก็ไม่ได้ หนูมีสอบ สอบปลายภาคที่นี่อะไรอย่างนี้ ก็ต้องสอบทุกคน เราจะไม่สอบก็ไม่ได้ เหมือนมีโอกาสมาแล้วก็พลาดตลอดในการเล่นละครทีวี ครั้งนี้พอเราได้มาอยู่ในจุดนี้ เราก็อยากลองละครทีวีบ้าง ก็ยังรอโอกาสจากผู้ใหญ่อยู่ค่ะ ฝากด้วยนะคะ

[MUSIC JOURNAL Volume 28 No.12 | August 2023]

Attawit Sittirak

เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล