เพลงดนตรีเดือนกุมภาพันธ์นี้ นำเสนอเรื่องราวการแสดงคอนเสิร์ต Asian Connections ในวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ผ่านภาพปกของวารสาร โดยคอนเสิร์ตนี้จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองมิตรภาพและความร่วมมือทางดนตรีในเอเชีย มีการแสดงบทเพลงจากนักประพันธ์ชาวเอเชียจากหลากหลายประเทศ ทั้งนักแต่งเพลงชื่อดังชาวญี่ปุ่น Toru Takemitsu นักแต่งเพลงชาวจีน Xiaogang Ye, Chen Yi และ Zhou Long ผู้ชนะรางวัลพูลิตเซอร์ และนักแต่งเพลงชาวไทย อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยบทประพันธ์ Sound, Echo, and Silence ของอาจารย์ ดร.ณรงค์ เป็นบทประพันธ์ที่ผสมผสานเครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีในวงออร์เคสตรา โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมและสร้างความร่วมสมัยของดนตรีพื้นบ้าน โดยบทประพันธ์และคอนเสิร์ตนี้เป็นผลผลิตจาก “โครงการประพันธ์ดนตรีเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศในเชิงลึกจากการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมผ่านเครื่องดนตรีพื้นบ้านกับวงออร์เคสตรา” โดยได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยในกลุ่มสร้างสรรค์วิชาการงานศิลป์ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
สำหรับผู้อ่านที่ติดตาม “เรื่องเล่าเบาสมองสนองปัญญา” ในฉบับนี้นำเสนอผลงานเพลงไทยสากลที่มีเนื้อร้องเชิดชูชื่นชมและนินทาบุรุษ ผ่านบทเพลงต่าง ๆ เช่น พ่อพระในดวงใจ พ่อยอดชาย ยอดชายใจหาญ ผู้ชายนะเออ และอื่น ๆ สามารถติดตามได้ในเล่ม โดยในแต่ละบทเพลงจะประกอบด้วยเนื้อเพลง บทวิเคราะห์ตัวดนตรี และลิงก์สำหรับฟังบทเพลงประกอบ
ด้านธุรกิจดนตรี นำเสนอบทความเกี่ยวกับเทคโนโลยี Blockchain ที่มีบทบาทในการช่วยอุตสาหกรรมดนตรีในด้านการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ การสร้างความเป็นธรรมในด้านการสร้างรายได้ให้แก่ศิลปิน ซึ่ง Blockchain เข้ามามีบทบาทในประเด็นนี้อย่างไร คลิกเข้าไปอ่านต่อได้ในเล่ม
บทความด้านดนตรีศึกษานำเสนอ ๓ บทความน่าสนใจ บทความแรกเป็นการถอดเสียงคำร้องบทเพลงวิหคเหินลมให้เป็นตัวอักษรโรมัน เพื่อใช้ในกิจกรรมการฝึกอบรมการขับร้องประสานเสียงแบบออนไลน์กับมหาวิทยาลัยในประเทศมาเลเซีย บทความที่สองเกี่ยวข้องกับการเริ่มต้นสอน ควรพิจารณาถึงประเด็นด้านใดบ้าง เช่น จุดมุ่งหมายของผู้เรียน การวางแผนการสอน และการประเมินผล ส่วนบทความที่สามนั้นเกี่ยวกับการใช้แอปพลิเคชัน “TikTok” (ติ๊กต็อก) ในการสอนดนตรีที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งผลสำรวจพบว่าผู้เรียนค่อนข้างมีความพึงพอใจในการเรียนรู้ผ่านแอปพลิเคชันนี้ เนื่องจากเป็นการเรียนรู้ผ่านวิดีโอที่มีความยาวสั้น ๆ
นอกจากนี้ ยังมีบทความด้านดนตรีที่หลากหลายจากนักเขียนประจำอีกเช่นเคย
