บทนำ

 

สังคีตภิรมย์

สังคีตภิรมย์ เป็นชื่อที่รองศาสตร์จารย์ ดร.ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์ คิดและให้ใช้สำหรับการแสดงดนตรีของสาขาวิชาดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา แสดงความรู้ ความสามารถทางดนตรี และให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ

สังคีตภิรมย์เกิดจากการสมาสคำระหว่างคำว่า "สังคีต" (มีความหมายว่าดนตรี) สนธิกับคำว่า "อภิรมย์" (มีความหมายว่า รื่นเริง ดีใจ ยินดี) และนำสองคำนี้มารวมกันจะมีความหมายว่า "ความสุขใจ รื่นรมย์ใจในการฟังดนตรี "

สังคีตภิรมย์ครั้งนี้ จัดการเสวนาวิชาการ "เทคนิคการบรรเลงดนตรีไทย" และการแสดงดนตรีพื้นบ้านภาคกลาง อาทิ การแสดงเพลงเรือ วงกลองยาว ละครชาตรี เครื่องสาย มโหรี ปี่พาทย์ เพื่อให้เห็นความหลากหลายของดนตรี ซึ่งอยุ่กับสังคมไทยมาช้านาน แม้ในแต่ละยุคสมัย จะมีบทบาทในสังคมและการนำเสนอรูปแบบของดนตรีที่แตกต่างกันออกไป โดยสังคีตภิรมย์ครั้งนี้เกิดจากการร่วมมือ ร่วมใจของคณาจารย์ นักเรียน นักศึกษา กันจัดสร้างสังคีตภิรมย์ครั้งที่ ๑๔ ขึ้น

คณะผู้จัดทำขอบคุณทุกท่าน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีผู้สนใจ ติดตามการแสดงของสาขาวิชาดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก และการแสดงอื่นๆของนักเรียน นักศึกษา เพื่อเป็นการสนับสนุน ส่งเสริม การทำกิจกรรมของนักเรียน นักศึกษาต่อไป