ประวัติอาจารย์พินิจ ฉายสุวรรณ

 


อาจารย์พินิจ ฉายสุวรรณ (ชื่อเดิม สนม ฉายสุวรรณ) เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ที่อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายย้อย และนางถนอม ฉายสุวรรณ
​อาจารย์พินิจเริ่มเรียนดนตรีไทยประเภทเครื่องปี่พาทย์จากหลวงอาพร (มีศักดิ์เป็นอา) ชาวบ้านโกร่ง จังหวัดลพบุรี โดยเป็นผู้จับมือต่อเพลงสาธุการ และนายผัน กองโชค (มีศักดิ์เป็นลุง) เป็นผู้จับมือตะโพน หลังจากนั้นจึงได้เรียนเพลงต่างๆ เพิ่มเติมจากนายยอด พูนสมบัติ
​ในเวลาต่อมากรมศิลปากรมีการประกาศทางวิทยุกระจายเสียงรับสมัครนักเรียนเข้าศึกษาตามโครงการสร้างนักดนตรีสากลให้กับกรมศิลปากร อาจารย์พินิจจึงเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครเพื่อสมัครเป็นนักเรียนวงจุลดุริยางค์ โดยพักอาศัยอยู่กับขุนสมานเสียงประจักษ์ (เถา สินธุนาคร) และเริ่มเรียนไวโอลินและทฤษฎีดนตรีตะวันตกเป็นเวลาสามปีครึ่ง จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๘๔ – ๒๔๘๘) อาจารย์พินิจจึงเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อหลบภัยสงครามและยุติการเรียนดนตรีตะวันตกลง ​อาจารย์พินิจยังมีโอกาสได้เรียนดนตรีไทยเพิ่มเติมจากครูดนตรีไทยอีกหลายท่าน อาทินายทวน อ่อนละมูล และนายเจ๊ก อ่อนละมูล นักดนตรีตำบลบ้านแห อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ต่อมาครูทั้งสองท่านได้พาอาจารย์พินิจไปฝากตัวเป็นศิษย์กับนายพริ้ง ดนตรีรส ข้าราชการศิลปิน กรมศิลปากร แต่เดิมอาจารย์พินิจเริ่มเรียนดนตรีไทยด้วยฆ้องวงใหญ่ พอมาอยู่กับนายพริ้ง ดนตรีรส ได้หัดบรรเลงฆ้องวงเล็กจนกระทั่งอายุ ๑๘ ปี จึงได้ฝึกและบรรเลงระนาดเอกเหล็กและระนาดเอกตามลำดับ
​อาจารย์พินิจเข้ารับราชการเป็นนักดนตรีวงเทศบาลรุ่นแรกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ โดยมีนักดนตรีอยู่ในวงจำนวน ๒๒ คน เช่น นายพริ้ง ดนตรีรส (หัวหน้าวง) นายบุญยงค์ เกตุคง นายไสว ตาตะวาทิต นายบุญช่วย ชิดท้วม นายหยด ผลเกิด นายสุจินต์ เฟื่องฟุ้ง นายบุญยัง เกตุคง นายช่อ อากาศโปร่ง นายสมปอง แจ้งจรัส นางสาวอนงค์ ศรีไทยพันธุ์ และนางสาวบุญชู ทองเชื้อ เป็นต้น จนกระทั่งนายพริ้ง เกษียณอายุราชการ นายบุญยงค์ เกตุคง และอาจารย์พินิจ จึงได้เป็นหัวหน้าวงต่อมาตามลำดับ
​ขณะที่อยู่ในวงดนตรีไทยกรุงเทพมหานคร อาจารย์พินิจได้ศึกษาดนตรีไทยเพิ่มเติมจากครูดนตรีหลายท่าน เช่น นายจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ (ศิลปินแห่งชาติ ปี ๒๕๓๘) นายช่อ อากาศโปร่ง นายเชื้อ ดนตรีรส (ศิลปินแห่งชาติ ปี ๒๕๔๒) นายบุญยงค์ เกตุคง (ศิลปินแห่งชาติ ปี ๒๕๓๑) นายบุญยัง เกตุคง (ศิลปินแห่งชาติ ปี ๒๕๓๔) นายเผือด นักระนาด นายมนตรี ตราโมท (ศิลปินแห่งชาติ ปี ๒๕๒๘) นายสงัด ยมะคุปต์ นายสมปอง แจ้งจรัส นายสมาน ทองสุโชติ นายสอน วงฆ้อง และเรืออากาศเอกโองการ กลีบชื่น เป็นต้น
​หลังจากอาจารย์พินิจ ฉายสุวรรณ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าวงดนตรีไทยของวงดนตรีกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ อาจารย์พินิจได้ทำหน้าที่ควบคุมวงดนตรีของกรุงเทพหานครและจัดอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้แก่อาจารย์สอนดนตรีในเขตพื้นที่กรุงเทพหานคร จนเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ แต่ท่านก็ยังคงเป็นผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาของวงดนตรีกรุงเทพหานครต่อไป
​ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ อาจารย์พินิจ ฉายสุวรรณ ได้รับเชิญให้เป็นผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากเป็นที่ปรึกษาหลักในด้านวิทยาการดนตรีไทยแล้ว ท่านยังทำหน้าที่สอนนักเรียน นักศึกษา ตั้งแต่หลักสูตรเตรียมอุดมดนตรีปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกอีกด้วยจากทักษะความสามารถและประสบการณ์การทำงานที่โดดเด่น อาจารย์พินิจจึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ประจำปี ๒๕๔๐
​อาจารย์พินิจ ฉายสุวรรณ มีผลงานดนตรีหลายด้าน ได้แก่ ด้านการประพันธ์เพลง เช่น กบเต้น เถา ขิมกลาง เถา กรรแสงสวาท เถา พม่าชมเดือน เถา ลาวกระแต เถา โหมโรงกราวใน โหมโรงกรุงเทพมหานคร และโหมโรงมหิตลานุสรณ์ เป็นต้น ด้านทางเพลงเดี่ยว เช่น เดี่ยวระนาดเอกแขกมอญบางช้าง สามชั้น เดี่ยวระนาดเอกนารายณ์แปลงรูป สามชั้น เดี่ยวระนาดเอกแป๊ะ สามชั้น เดี่ยวฆ้องวงใหญ่สุดสงวน สามชั้น เดี่ยวฆ้องวงเล็กเชิดนอก สามชั้น เดี่ยวฆ้องวงเล็กกราวใน สามชั้น และเดี่ยวฆ้องวงเล็กม้าย่อง สามชั้น เป็นต้น ด้านการเรียบเรียงเพลงเรื่อง เช่น เพลงเรื่องกล่อมนารี เพลงเรื่องราโค และเพลงเรื่องพระทอง เป็นต้นด้านการประพันธ์บทร้องเพลงไทย เช่น ลาวสมเด็จ อิเหนาแปลง และมอญจับดาบ เป็นต้นด้านบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารดนตรี เช่น ปี่พาทย์บ้านนอก ปี่พาทย์หากิน ปี่พาทย์ประชันวง ปี่พาทย์ประโคมศพ ปี่พาทย์โหมโรงกลางวัน และปี่พาทย์ชุดเพลงเรื่องนางหงส์ เป็นต้น ด้านการวิเคราะห์เพลง ได้แก่ การวิเคราะห์เพลงแขกมอญ สองชั้น และการวิเคราะห์เพลงหกบท สองชั้น เป็นต้น การบันทึกโน้ตเพลงไทยทั้งในระบบโน้ตไทยและสากล บางส่วนได้จัดพิมพ์เป็นชุดหนังสือโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้จัดพิมพ์ ได้แก่ หนังสือมูลบทดุริยกิจ พินิจเพลงประโคม โหมโรงเสภา พรรณนาเพลงเรื่อง เบื้องต้นฝึกฝนขิม